ฉงชิ่ง 21 ส.ค.- จีนจะใช้สารเคมีทำฝนเทียม เพื่อปกป้องผลผลิตทางการเกษตรจากภาวะแล้งรุนแรงเป็นประวัติการณ์ ขณะที่โรงงานทางตะวันตกเฉียงใต้กำลังลุ้นว่าจะต้องปิดโรงงานอีก 1 สัปดาห์หรือไม่ เพราะน้ำในเขื่อนไม่เพียงพอที่จะผลิตกระแสไฟฟ้า
ฤดูร้อนที่ร้อนที่สุดและแล้งที่สุดนับตั้งแต่จีนเริ่มมีการบันทึกเมื่อ 61 ปีก่อน ได้ทำให้พืชผลแห้งตายและแหล่งเก็บกักน้ำเหลือน้ำเพียงครึ่งหนึ่งของระดับปกติ โรงงานในมณฑลเสฉวนต้องหยุดเดินเครื่องเป็นเวลา 6 วัน เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เพื่อสงวนไฟฟ้าให้แก่ครัวเรือน เนื่องจากอุณหภูมิที่สูงถึง 45 องศาเซลเซียส ทำให้คนใช้เครื่องปรับอากาศเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงขึ้น เอกสารที่เผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์ โดยอ้างว่ามาจากสำนักงานอุตสาหกรรมข่าวสารและเศรษฐกิจเสฉวน ระบุว่า ทางการจะขยายคำสั่งปิดโรงงานไปจนถึงวันพฤหัสบดีนี้ แต่ยังไม่มีการยืนยันอย่างเป็นทางการ มณฑลเสฉวนได้รับผลกระทบหนักที่สุด เนื่องจากไฟฟ้าร้อยละ 80 ผลิตจากเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ แต่ขณะนี้ระดับน้ำในเขื่อนเหลือเพียงครึ่งหนึ่งของปกติเท่านั้น ทางการเตือนว่า ประชาชน 819,000 คน เสี่ยงขาดแคลนน้ำดื่ม
หนังสือพิมพ์โกลบอลไทมส์ อ้างกระทรวงเกษตรจีนว่า ช่วง 10 วันข้างหน้า ผลผลิตข้าวทางตอนใต้ของประเทศจะต้องเผชิญกับช่วงเวลาสำคัญในการต้านทานความเสียหาย ทางการจะดำเนินมาตรการฉุกเฉินเพื่อปกป้องผลผลิตข้าวฤดูใบไม้ร่วงที่ครองสัดส่วนถึง 3 ใน 4 ของผลผลิตทั้งปี ด้วยการใช้สารเคมีทำฝนเทียม และใช้สารหน่วงการใช้น้ำฉีดพ่นพืชผล เพื่อจำกัดการคายน้ำ
เอพีมองว่า หากจีนมีปริมาณผลผลิตทางการเกษตรลดลง อาจส่งผลกระทบในระดับโลก เพราะจะทำให้จีนต้องนำเข้าอาหารเพิ่มขึ้น เพิ่มแรงกดดันเรื่องภาวะเงินเฟ้อในสหรัฐและยุโรปให้สูงขึ้นจากปัจจุบันที่สูงสุดในรอบหลายสิบปีแล้ว นอกจากนี้ยังเป็นความท้าทายของพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่ต้องการฟื้นเศรษฐกิจก่อนที่จะมีการประชุมใหญ่พรรคในเดือนตุลาคมหรือพฤศจิกายน ซึ่งคาดกันว่า ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง วัย 69 ปี จะดำรงตำแหน่งวาระ 5 ปี ต่อเป็นสมัยที่ 3.-สำนักข่าวไทย