กรุงเทพฯ10 เม.ย.-บางจากฯ เปลี่ยนชื่อเป็น “บางจาก คอร์ปอเรชั่น”เรียบร้อยแล้ว ด้าน RATCH
ผนึก MPI ลงทุนโรงไฟฟ้าก๊าซฯ 275 เมกะวัตต์ในอินโดนีเซีย
นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด
(มหาชน) เปิดเผยว่า จากมติที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2560 เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2560 ที่อนุมัติให้แก้ไขชื่อบริษัท จาก “บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)” ภาษาอังกฤษ “The
Bangchak Petroleum Public Company Limited” เปลี่ยนเป็นชื่อใหม่
ภาษาไทย เป็น “บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)”
และชื่อภาษาอังกฤษ เป็น “Bangchak Corporation Public
Company Limited” โดยได้รับอนุมัติการจดทะเบียนต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
กระทรวงพาณิชย์ และให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน 2560 เป็นต้นไป โดยตราสัญลักษณ์บริษัท (โลโก้) และชื่อย่อหลักทรัพย์
ยังคงใช้เป็น “BCP”เป็นการปรับภาพลักษณ์ขององค์กที่ไม่เพียงดำเนินธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันและค้าปลีกน้ำมันสำเร็จรูปเท่านั้น
แต่ในอนาคตจะขยายธุรกิจออกไปครอบคลุมทั้งธุรกิจต่อเนื่องและธุรกิจที่สนับสนุนธุรกิจหลักที่มีการใช้เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมขั้นสูง
นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท
ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน)เปิดเผยว่า บริษัท ประสบความสำเร็จการลงทุนในประเทศอินโดนีเซีย
ในโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม Riau กำลังผลิต 275 เมกะวัตต์ ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงตั้งอยู่ที่จังหวัด Riau บนเกาะสุมาตรา อินโดนีเซีย สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ประมาณปีละ 1,446 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง
ทั้งนี้ บริษัท อาร์เอช อินเตอร์เนชั่นแนล (สิงคโปร์) คอร์ปอเรชั่น
จำกัด (RHIS) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยทางอ้อมของบริษัทฯ
ได้ลงนามร่วมทุนกับบริษัท PT Medco Power Indonesia (MPI) จัดตั้งบริษัท
PT Medco Ratch Power Riau (MRPR) เป็นผู้ดำเนินงานโครงการโรงไฟฟ้า
Riau ดังกล่าว โดยมี RHIS ถือหุ้น 49% และ PT Medco ถือหุ้น 51% เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2560 บริษัท MRPR ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าของโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม
Riau ระยะเวลา 20 ปี กับ Perusahaan
Listrik Negara (PLN) หรือ การไฟฟ้าประเทศอินโดนีเซีย
เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
“MRPR
เป็นบริษัทร่วมทุนที่จัดตั้งขึ้นด้วยทุนจดทะเบียน 12,000 ล้านรูเปียห์ (ประมาณ 32.42 ล้านบาท)
ทำหน้าที่ดำเนินงานโครงการโรงไฟฟ้า Riau มีมูลค่าโครงการประมาณ
300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับเงินลงทุนจะใช้จาก 2 แหล่ง คือ เงินส่วนทุนประมาณ 25% และเงินกู้ประมาณ 75%
บริษัทฯ
ได้พิจารณาและป้องกันความเสี่ยงทุกประเด็นอย่างรอบคอบและเชื่อมั่นว่าโครงการนี้จะช่วยสร้างมูลค่าองค์กรให้เติบโตและมีรายได้นับจากเริ่มเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ในปี
2564 ” นายกิจจา
กล่าว-สำนักข่าวไทย