บริสตอล 23 ก.ค.- ปี 2567 ที่ผ่านมาไม่เพียงเป็นปีที่โลกร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ แต่ยังเป็นปีที่ราคาอาหารทั่วโลกพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์เช่นกัน เสี่ยงส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและสังคมของหลายประเทศ
โลกร้อนขึ้น 1.5 องศาเซลเซียสจากยุคก่อนอุตสาหกรรม
ไอโอพีไซเอินซ์ (IOPscience) ซึ่งเป็นบริการออนไลน์ของวารสารที่ตีพิมพ์โดยไอโอพีพับลิชชิง (IOP Publishing) สำนักพิมพ์งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่มีสำนักงานใหญ่ที่สหราชอาณาจักร ได้เผยแพร่รายงานการวิจัยฉบับใหม่เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคมของนายแม็กซิมิลิอัน ค็อตซ์ และคณะ (Maximilian Kotz et al) เรื่องสภาพอากาศสุดขั้ว ราคาอาหารพุ่ง และความเสี่ยงทางสังคมในวงกว้าง
ข้อมูลจากรายงานระบุว่า เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกสูงขึ้น 1.5 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม เรื่องนี้ได้รับการยืนยันจากองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) หลังจากที่ได้ทบทวนงานวิจัยจากหลายประเทศ และถือว่าใกล้ถึงขีดอันตรายที่รัฐบาลนานาชาติรับปากไว้ในข้อตกลงปารีสปี 2558 ว่า จะช่วยกันจำกัดอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้น 2 องศาเซลเซียสจากยุคก่อนอุตสาหกรรม
อุณหภูมิที่พุ่งสูงไม่ใช่แค่ตัวเลข แต่มาพร้อมกับผลกระทบที่เกิดขึ้นจริง ทั้งน้ำท่วมใหญ่ในยุโรป คลื่นความร้อนคร่าชีวิตผู้คนในเม็กซิโกและซาอุดีอาระเบีย ภัยแล้งในอิตาลีและอเมริกาใต้ พายุไซโคลนถล่มสหรัฐและฟิลิปปินส์อย่างต่อเนื่อง นักวิทยาศาสตร์ชี้ว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น การเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ภัยพิบัติธรรมชาติเหล่านี้รุนแรงและบ่อยครั้งขึ้น และหนึ่งในผลกระทบที่ประชาชนทั่วโลกสัมผัสได้ชัดเจนที่สุดคือ ราคาสินค้าอาหารที่พุ่งสูงขึ้น
อาหารแพงทั่วโลก ผลกระทบที่รู้สึกได้
งานวิจัยล่าสุดยืนยันว่า คลื่นความร้อน ภัยแล้ง และน้ำท่วม ที่ทวีความรุนแรงในช่วงปีที่ผ่านมา ส่งผลโดยตรงต่อการผลิตทางการเกษตร ทำให้ผลผลิตตกต่ำ ระบบขนส่งหยุดชะงัก และราคาสินค้าอาหารพุ่งสูง ปี 2567 ปัญหาอาหารแพงเป็นผลกระทบจากโลกร้อนที่คนทั่วโลกรู้สึกได้มากที่สุดเป็นอันดับ 2 รองจากคลื่นความร้อน ผลการศึกษาพบความเชื่อมโยงระหว่างอุณหภูมิที่สูงขึ้นกับราคาอาหารที่แพงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
คลื่นความร้อนที่ปกคลุมเอเชียตะวันออกทำให้ราคากะหล่ำปลีในเกาหลีใต้พุ่งขึ้น 70% ข้าวญี่ปุ่นแพงขึ้น 48% ผักในจีนปรับราคาขึ้น 30% ภัยแล้งรุนแรงในรัฐแคลิฟอร์เนียและรัฐแอริโซนาทำให้ราคาผักในสหรัฐแพงขึ้น 80% เช่นเดียวกับภัยแล้งยาวนานในสเปนที่ส่งผลให้ราคาน้ำมันมะกอกในยุโรปเพิ่มขึ้น 50% ขณะที่กานาและโกตดิวัวร์ซึ่งผลิตโกโก้กว่า 60% ของโลก ประสบทั้งภัยแล้งและคลื่นความร้อน ทำให้ราคาตลาดโลกของโกโก้พุ่งขึ้นถึง 300% ไม่ต่างจากราคากาแฟที่สูงขึ้นมากเพราะผู้ผลิตหลักของโลกอย่างเวียดนามและบราซิลเผชิญความร้อนจัด
ผลกระทบรอบด้าน : สุขภาพ เศรษฐกิจ ไปจนถึงการเมือง
ครัวเรือนรายได้น้อยเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด เมื่อผักและผลไม้สดแพงขึ้น ผู้คนหันไปบริโภคอาหารขยะหรืออาหารไม่ดีต่อสุขภาพที่มีราคาถูกกว่า ส่งผลให้โรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดัน โรคหัวใจ และภาวะทุพโภชนาการในเด็ก มีอัตราเพิ่มสูงขึ้น ขณะเดียวกันในทางเศรษฐกิจ ราคาอาหารที่ผันผวนกระทบต่อการควบคุมเงินเฟ้อ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา เนื่องจากอาหารเป็นสัดส่วนหลักของค่าครองชีพ นอกจากนี้ราคาอาหารยังมีส่วนจุดชนวนให้เกิดความไม่สงบทางการเมืองและการลุกฮือทางสังคมมาแล้วหลายครั้งในอดีต ตั้งแต่การปฏิวัติฝรั่งเศสและรัสเซียช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 และ 20 ยุโรป ไปจนถึงอาหรับสปริงในปี 2554
ทางออกยังมี ความหวังยังอยู่
นักวิจัยย้ำว่า การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นสาเหตุของโลกร้อนที่ทำให้สภาพอากาศแปรปรวนสุดขั้ว ยังคงเป็นสิ่งจำเป็นสูงสุด แต่ในขณะเดียวกัน โลกต้องเตรียมปรับตัวต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้วด้วย
การคาดการณ์สภาพภูมิอากาศที่แม่นยำ นอกจากช่วยเตือนภัยพิบัติได้ล่วงหน้าแล้ว ยังช่วงพยากรณ์แนวโน้มราคาอาหารได้แม่นยำอีกด้วย ขณะนี้บริษัทการเงินหลายแห่งเริ่มนำข้อมูลอุณหภูมิมาเป็นดัชนีคาดการณ์ราคาสินค้าเกษตร เช่น เอชเอสบีซี (HSBC) ที่ใช้ตัวเลขอุณหภูมิคาดการณ์ราคาอาหารทั่วอินเดียแทนการดูระดับน้ำในเขื่อนอย่างที่ผ่านมา
การทำการเกษตรที่ยืดหยุ่นเพื่อผลในระยะยาวก็เป็นสิ่งสำคัญ เช่น การปลูกพืชต่างชนิดหมุนเวียนในพื้นที่เดิม การนำระบบชลประทานมาใช้ อย่างไรก็ดี หลายพื้นที่มีข้อจำกัด เช่น แคว้นคาตาลุญญาของสเปนที่ต้องลดการใช้น้ำถึง 80% ในช่วงฤดูแล้ง ขณะเดียวกันรัฐบาลต้องมีนโยบายคุ้มครองกลุ่มเปราะบาง ส่งเสริมระบบสวัสดิการ เช่น เงินช่วยเหลือที่ปรับตามเงินเฟ้อ หรือ โครงการอาหารฟรีสำหรับเด็กและผู้สูงอายุ เพื่อป้องกันผลกระทบทางสุขภาพและสังคม
Final Thoughts: อาหารแพงจากโลกรวน สัญญาณเตือนก่อนโลกวิกฤต
ภาวะโลกร้อนที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น จะทำให้โลกเผชิญกับคลื่นความร้อน น้ำท่วม และภัยธรรมชาติที่รุนแรงมากขึ้น ราคาอาหารที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นสัญญาณเตือนให้ทั่วโลกตระหนักเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและหาทางแก้ไข ก่อนที่โลกจะไปถึงจุดวิกฤตที่ไม่สามารถย้อนกลับมาแก้ไขได้.-814.-สำนักข่าวไทย