สหรัฐ 2 เม.ย. – เทคโนโลยีดิจิทัลที่กำลังแพร่หลายจะเข้าครัวมาช่วยเตรียมอาหารให้เรารับประทานได้หรือไม่ ไปติดตามชมในสีสันต่างประเทศ
หากมีใครสงสัยว่าเทคโนโลยีดิจิทัลจะเข้ามามีส่วนช่วยในการทำอาหารในครัวได้หรือไม่ ขณะนี้มหาวิทยาลัยโคลัมเบียของสหรัฐมีคำตอบ เพราะได้ประดิษฐ์เครื่องพิมพ์อาหารสามมิติสำหรับใช้งานในครัวได้แล้ว และกำลังนำไปทดลองใช้งานจริง
ฮ็อด ลิปสัน ศาสตราจารย์ด้านหุ่นยนต์ของมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย หัวหน้าทีมผู้สร้างเครื่องพิมพ์นี้ หวังสร้างเครื่องพิมพ์ที่จะนำไปสู่ยุคใหม่ของการประกอบอาหารในครัวเรือน ซึ่งนอกจากจะคำนึงถึงความสำคัญด้านโภชนาการและการดูแลสุขภาพแล้ว ยังช่วยเพิ่มความสนุกสนานในการทำอาหาร
ลิปสันบอกว่า ซอฟต์แวร์เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับทุกวงการ แต่เรายังปรุงอาหารกันด้วยวิธีโบราณเหมือนคนในยุคก่อนที่ใช้เปลวไฟหุงหาอาหาร การนำเทคโนโลยีนี้มาใช้จะเป็นเหมือนการปฏิวัติงานครัวและแม้หลายคนยังเคยชินกับการทำอาหารด้วยวิธีเดิมๆ และไม่เห็นความสำคัญของเทคโนโลยีใหม่นี้ แต่สำหรับเด็กรุ่นใหม่แล้ว เทคโนโลยีอันทันสมัยดูจะเป็นเรื่องปกติไปแล้ว
นักศึกษาได้ทดลองทำอาหารง่ายๆ เช่น สลัดไข่ แซลมอนมูส และช็อกโกแลตซูเฟล่ ด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิตินี้ แต่ความท้าทายอยู่ที่การค้นหาโครงสร้างและรูปทรงที่เหมาะสมสำหรับอาหารแต่ละอย่าง รวมทั้งระดับอุณหภูมิ
ที่พอเหมาะพอดี พวกเขาเริ่มทดลองทำอาหารง่ายๆ ด้วยเครื่องพิมพ์มาตั้งแต่ปี 2548 รวมทั้งคิดค้นวิธีปรุงอาหารด้วยวิธีที่ซับซ้อนมากขึ้นเพื่อให้ได้อาหารที่มีคุณภาพตามต้องการ แต่ก็ยังไม่สามารถหาสูตรอาหารที่จะนำมาใช้กับอุปกรณ์นี้ได้
ขณะนี้ทีมวิศวกรสร้างต้นแบบเครื่องพิมพ์สามมิติเสร็จแล้ว โดยออกแบบให้มีแคร่ตลับใส่ส่วนผสมของอาหารหลายๆ แคร่ ลิปสันเชื่อว่าอีกไม่นานผู้ที่มักมีอาการแพ้อาหารอาจจะกลายเป็นลูกค้าประจำที่ใช้เครื่องพิมพ์อาหารสามมิตินี้ สำหรับทำอาหารเมนูเฉพาะที่เหมาะกับสุขภาพของตัวเอง. – สำนักข่าวไทย