รวันดา 18 มี.ค.-ปัจจุบันหลายประเทศมีการนำอากาศยานไร้คนขับ หรือโดรน มาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ แม้กระทั่ง “รวันดา” ประเทศเล็กๆ ที่อยู่ระหว่างตอนกลางและตะวันออกของทวีปแอฟริกา ยังพัฒนานำโดรนมาใช้ในด้านการแพทย์ เพื่อช่วยรักษาชีวิตของชาวรวันดา
โดรนหรืออากาศยานไร้คนขับกำลังทำหน้าที่ช่วยรักษาชีวิตของผู้คนในรวันดา เมื่อบริษัท ซิปไลน์ รวันดา ผู้ให้บริการส่งสิ่งของได้เริ่มนำโดรนมาใช้เพื่อส่งเลือดและยารักษาโรคมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2558
นิกสัน ฮู ผู้จัดการบริษัทซิปไลน์ รวันดา บอกว่า เมื่อทางบริษัทได้รับคำสั่งซื้อ เจ้าหน้าที่จะจัดสินค้าลงในกล่องกระดาษ แล้วโทรศัพท์แจ้งลูกค้าว่า กำลังจะส่งสินค้าไปให้ด้วยโดรนที่มีชื่อว่า “ซิป” เมื่อตรวจสอบความปลอดภัยขั้นสุดท้ายแล้ว ก็จะปล่อยโดรนออกไป เมื่อถึงจุดหมายปลายทาง โดรนจะปล่อยสินค้าที่เป็นผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ลงไปพร้อมกับร่มชูชีพทำด้วยกระดาษคราฟต์แบบเดียวกับที่พ่อค้าใช้ห่อเนื้อ โดรนที่ใช้มีน้ำหนักเพียง 10 กิโลกรัม บริษัทใช้โดรนส่งของให้ลูกค้าและโรงพยาบาลต่างๆ ราววันละ 20 เที่ยว หากวันไหนคุณแม่ที่มาคลอดบุตรมีอาการตกเลือดหลังคลอด ซึ่งมักเป็นกันมาก ก็จะต้องส่งของมากขึ้น
โดรนที่ทางบริษัทใช้สามารถเดินทางไปกลับได้ไกลราว 120 กิโลเมตร โดยมีระบบจีพีเอสที่ใช้ทางการทหารควบคู่กับซอฟต์แวร์ช่วยนำทาง และเนื่องจากโดรนสามารถส่งของที่มีน้ำหนักสูงสุดราว 1.5 กิโลกรัม ได้ภายในเวลา 15-30 นาที จึงไม่จำเป็นต้องแช่เย็น
เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลที่ใช้บริการโดรนบอกว่า โดรนช่วยส่งเลือดและยาต่างๆ มาให้อย่างรวดเร็ว จึงสามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยจำนวนมากไว้ได้ทันเวลา ขณะนี้บริษัทเน้นให้บริการส่งสินค้าด้านการแพทย์ในประเทศที่ยังไม่ค่อยมีการสัญจรทางอากาศ และไม่มีกฎข้อบังคับมากเหมือนกับในสหรัฐหรือยุโรป แต่การใช้โดรนก็ยังมีปัญหาหลายอย่าง เช่น โดรนบางรุ่นบินได้ระยะทางจำกัด และหากเกิดเฉี่ยวชน การเดินทางเข้าไปซ่อมแซมในพื้นที่ห่างไกลก็เป็นเรื่องยาก นอกจากนี้ รัฐบาลบางประเทศไม่ไว้ใจเทคโนโลยีนี้ เพราะกลัวว่าอาจถูกรุกล้ำอธิปไตยได้.-สำนักข่าวไทย