นิวเดลี 15 พ.ย.- ผู้เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของอินเดียชี้แจงเหตุผลที่อินเดียคัดค้านการเลิกผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 26 (COP26)
นายสัมรัต แสงคุปตะ ผู้อำนวยการโครงการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและพลังงาน ศูนย์เพื่อวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อมในกรุงนิวเดลีของอินเดียเผยกับสำนักข่าวเอเอฟพีว่า อินเดียมีประชากรจำนวนมหาศาลที่ยังคงไม่มีมาตรฐานความเป็นอยู่พื้นฐานขั้นต่ำ จึงต้องใช้เชื้อเพลิงราคาถูกในการผลิตไฟฟ้าเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจและทำให้ประชาชนจำนวนมากพ้นจากความยากจน โดยใช้ถ่านหินเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าถึงร้อยละ 70 ของการผลิตทั้งหมด ขณะที่เป้าหมายที่จะเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากแผงเซลล์แสงอาทิตย์ภายในปี 2573 ตามที่รัฐบาลนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดีรับปากไว้ ถือเป็นเรื่องที่ใหญ่และยากมาก เพราะต้องใช้เงินลงทุนต้นทุนต่ำและเทคโนโลยีขั้นสูง
อินเดียซึ่งเป็นประเทศก่อมลพิษใหญ่อันดับ 3 ของโลก ร่วมกับบางประเทศ เช่น จีน แก้ไขเนื้อความในข้อตกลงกลาสโกว์เรื่องยุติการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน จากคำว่า “ทยอยเลิกใช้” เป็น “ทยอยลดใช้” ในนาทีสุดท้ายก่อนปิดการประชุมที่ยืดเยื้อจากกำหนดเดิม 1 วัน เป็นวันที่ 13 พฤศจิกายน เอเอฟพีระบุว่า รัฐบาลอินดียเตะถ่วงการเข้มงวดระเบียบโรงไฟฟ้าถ่านหิน และเพิ่งเปิดประมูลเหมืองถ่านหินเชิงพาณิชย์เมื่อปีก่อนเพื่อเพิ่มกำลังผลิตในประเทศ นายกรัฐมนตรีโมดีรับปากว่า จะเลิกใช้ถ่านหิน แต่แจ้งต่อที่ประชุม COP26 ว่า อินเดียจะเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2613 ช้ากว่าที่จีนรับปากถึง 10 ปี
กรุงนิวเดลีของอินเดียต้องสั่งปิดโรงเรียนเป็นเวลา 1 สัปดาห์ในวันเดียวกับที่คณะผู้แทน COP26 หาทางสรุปข้อตกลง เพราะหมอกควันพิษปกคลุมทั่วเมือง เป็นภัยต่อผู้อาศัยอยู่อย่างแออัด 20 ล้านคน มหาวิทยาลัยชิคาโกในสหรัฐเผยผลการศึกษาว่า มลพิษทางอากาศอาจทำให้ชาวอินเดีย 4 ใน 10 คน มีอายุขัยสั้นลงมากกว่า 9 ปี.-สำนักข่าวไทย