โตเกียว 2 ส.ค. – โรงงานในทวีปเอเชียได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงในเดือนกรกฎาคม เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นและการระบาดระลอกใหม่ของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ที่บดบังอุปสงค์อันแข็งแกร่งทั่วโลก และเน้นถึงความเปราะบางของการฟื้นตัวในภูมิภาคดังกล่าว
สำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานผลการสำรวจความคิดเห็นระบุว่า โรงงานส่งออกของญี่ปุ่นและเกาหลีใต้มีกิจกรรมการผลิตเพิ่มสูงขึ้น แม้บริษัทต่าง ๆ ได้รับผลกระทบจากห่วงโซ่อุปทานที่ชะงักและปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบที่ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น ขณะที่อัตราเติบโตของกิจกรรมโรงงานของจีนลดลงอย่างรวดเร็วในเดือนกรกฎาคม เนื่องจากอุปสงค์ที่หดตัวเป็นครั้งแรกในรอบปี ส่วนกิจกรรมโรงงานของอินโดนีเซีย เวียดนามและมาเลเซียก็เผชิญกับภาวะหดตัวในเดือนที่ผ่านมาเช่นกัน เนื่องจากกำลังฟื้นตัวจากการพบตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อโควิดจำนวนมากและการใช้มาตรการควบคุมโรคโควิด-19 ที่เข้มงวด ผลสำรวจดังกล่าวยังชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างที่เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจทั่วโลกในการฟื้นตัวจากการระบาดของเชื้อโควิด ซึ่งทำให้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ ปรับลดคาดการณ์เติบโตของตลาดเกิดใหม่ในทวีปเอเชียในปีนี้ ทั้งนี้ ผลสำรวจความเห็นดังกล่าวสอดคล้องกับผลสำรวจอย่างเป็นทางการที่เผยแพร่เมื่อวันเสาร์ที่แสดงให้เห็นถึงการชะลอตัวของกิจกรรม
ธนาคารจิบุนของญี่ปุ่นเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ หรือพีเอ็มไอ ภาคการผลิตของญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นแตะระดับ 53 ในเดือนกรกฎาคมจากระดับ 52.4 ในเดือนมิถุนายน ส่วนค่าพีเอ็มไอของเกาหลีใต้อยู่ที่ระดับ 53 ในเดือนที่แล้ว ซึ่งถือว่าสูงกว่าระดับ 50 ที่ชี้ให้เห็นว่ากิจกรรมขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่สิบ ขณะที่ไฉซิน/มาร์กิตเผยผลสำรวจว่า ค่าพีเอ็มไอภาคการผลิตของจีนร่วงลงแตะระดับ 50.3 ในเดือนกรกฎาคมจากระดับ 51.3 ในเดือนมิถุนายน ถือเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 15 เดือน เนื่องจากประสบปัญหาต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น ด้านค่าพีเอ็มไอของตลาดเกิดใหม่ในทวีปเอเชียที่กำลังได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ก็ร่วงลงเช่นกัน โดยอินโดนีเซียมีค่าพีเอ็มไอลดร่วงลงเหลือ 40.1 ในเดือนกรกฎาคมจากระดับ 53.5 ในเดือนมิถุนายน ขณะที่ประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเดียวกัน เช่น เวียดนามและมาเลเซียก็มีค่าพีเอ็มไอร่วงลงเช่นกัน.-สำนักข่าวไทย