กรุงเทพฯ 31 พ.ค.-สศอ.เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนเมษายน หดตัวร้อยละ 8.14 เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่หดตัวลง ต้นทุนการผลิต – การเงินเพิ่มขึ้น กดดันภาคการส่งออก และขีดความสามารถการแข่งขันในอุตสาหกรรมไทยลดลง พร้อมปรับประมาณการดัชนี MPI และ GDP ภาคอุตสาหกรรม ปีนี้ขยายตัวที่ร้อยละ 0.0 – 1.0
นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม(MPI) เดือนเมษายน ปี 2566 อยู่ที่ระดับ 83.51 หดตัวร้อยละ 8.14 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และหดตัวร้อยละ 20.79 เมื่อเทียบจากเดือนก่อน ด้านอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ร้อยละ 53.82 และช่วง 4 เดือนแรก ปี2566 เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 61.31 ส่งผลให้ดัชนี MPI 4 เดือนแรก ปี 2566 อยู่ที่ระดับ 96.87 หดตัวร้อยละ 4.69 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีสาเหตุหลักจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวรวมถึงต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมไทยลดลง ทั้งนี้ ต้องจับตาอุตสาหกรรมที่เคยเติบโตดี แต่เริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวจากความต้องการทั้งในประเทศที่ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ โดยเฉพาะในรถกระบะ 1 ตัน อย่างไรก็ดี การบริโภคในประเทศยังขยายตัวจากเศรษฐกิจในประเทศทยอยปรับดีขึ้นต่อเนื่อง
จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่หดตัวและปัญหาภาคการเงินของสหรัฐฯ ทำให้ประเทศคู่ค้าชะลอคำสั่งซื้อสินค้าในหลายอุตสาหกรรม รวมถึงต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากค่าไฟฟ้าและต้นทุนทางการเงินจากการขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูงขึ้น เริ่มมีผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทยให้ปรับลดลง และมีผลต่อการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมได้น้อยลง ทั้งนี้ สศอ. ได้คาดการณ์ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม เดือนพฤษภาคม ส่งสัญญาณเฝ้าระวัง โดยมีปัจจัยบวกจากการบริโภคและการท่องเที่ยว อีกทั้ง การลงทุนที่เพิ่มขึ้น แต่ต้องจับตาดูการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกปัญหาภาคการเงินของสหรัฐฯ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลต่อผลผลิตการเกษตร อัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ภาระหนี้สินครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น
สศอ. จึงได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมปี 2566 โดยคาดว่า MPI ปี 2566 จะขยายตัวที่ร้อยละ 0.0 – 1.0 และ GDP ภาคอุตสาหกรรมปี 2566 จะขยายตัวที่ร้อยละ 0.0 – 1.0 จากประมาณการครั้งก่อน คาดดัชนี MPI จะขยายตัวที่ร้อยละ 1.5 – 2.5 และ GDP ภาคอุตสาหกรรม จะขยายตัวที่ร้อยละ 1.5 – 2.5” นางวรวรรณ กล่าว
สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลบวกต่อดัชนีผลผลิตในเดือนเมษายน 2566 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนได้แก่ น้ำตาล ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 19.15 เนื่องจากความต้องการบริโภคทั้งในและต่างประเทศเพิ่มขึ้น ตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ขณะที่ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.87 จากผลิตภัณฑ์น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 และน้ำมันเครื่องบิน เป็นหลัก ตามปริมาณการเดินทางที่เพิ่มขึ้นและมอลต์และสุราที่ทำจากข้าวมอลต์ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 17.58 เนื่องจากความต้องการบริโภคที่มากขึ้นในเทศกาลสงกรานต์ รวมถึงการที่นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศมากขึ้น น้ำมันปาล์มขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 7.92
ส่วนผลิตภัณฑ์ที่ทำจากกระดาษและกระดาษแข็ง ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 11.14 จากผลิตภัณฑ์กระดาษพิมพ์เขียน เป็นหลัก เนื่องจากปีนี้สามารถเปิดเรียน Onsite เต็มรูปแบบ ทำให้มีการใช้กระดาษพิมพ์เขียนมากขึ้น ประกอบกับอานิสงส์จากการใช้กระดาษในกิจกรรมการเลือกตั้ง.-สำนักข่าวไทย