เมียนมา 5 มี.ค. -ทูตเมียนมาดาหน้าอารยะขัดขืน ปฏิเสธที่จะปฏิบัติงานตามคำสั่งของรัฐบาลทหารแล้วนับสิบราย
เจ้าหน้าที่ทางการทูตของเมียนมากว่า 10 ราย ซึ่งประจำการอยู่ในต่างประเทศปฏิเสธที่จะปฏิบัติงานให้กับกองทัพเมียนมาที่กุมอำนาจบริหารประเทศอยู่ในขณะนี้ การประกาศจุดยืนของเจ้าหน้าที่ทางการทูตดังกล่าวมีขึ้นหลังจากเกิดเหตุการณ์นองเลือดภายในประเทศเมียนมาจากการที่เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงใช้กำลังและอาวุธเข้าปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วงอย่างรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ
เมื่อวันพฤหัสบดี (4 มี.ค) ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ทางการทูตที่ประจำการอยู่ที่สถานเอกอัครราชทูตเมียนมา ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา ประกาศว่า พวกเขากำลังเข้าร่วมกับขบวนการเคลื่อนไหว “อารยะขัดขืน” (Civil Disobedience Movement : CDM) ไม่เชื่อฟังรัฐ ปฏิเสธที่จะปฏิบัติงานตามคำสั่งของกองทัพเมียนมาที่ปกครองประเทศอยู่ในเวลานี้
เจ้าหน้าที่ทางการทูตเมียนมาทั้ง 5 คน กล่าวว่า พวกเขารู้สึกเศร้าสลดและหดหู่ใจที่กองทัพทำรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย และไม่สามารถยอมรับได้กับการใช้กำลังที่ร้ายแรงกับผู้ชุมนุมประท้วงที่เคลื่อนไหวโดยสันติวิธี
นอกจากกลุ่มเจ้าหน้าที่ทูตเมียนมา 5 คน ที่กรุงวอชิงตันแล้ว อู อ่อง จ่อ หน่าย ทูตที่ปรึกษาเมียนมา ที่นครลอสแองเจลิส ได้ประกาศให้ทราบเช่นกันว่า เขาจะเข้าร่วมปฏิบัติการอารยะขัดขืน ไม่ปฏิบัติงานตามคำสั่งของกองทัพเมียนมาตั้งแต่วันศุกร์นี้เป็นต้นไป
อ่อง จ่อ หน่าย ซึ่งรับราชการที่กระทรวงต่างประเทศมานานเกือบ 30 ปี บอกว่า การตัดสินใจเข้าร่วมขบวนการเคลื่อนไหว CDM ของเขา เกิดจากความเศร้าสลดใจต่อเหตุการณ์การใช้กำลังเข้าปราบปรามและสลายการชุมนุมอย่างโหดร้ายในเมียนมาเมื่อวันพุธที่ 3 มีนาคม ซึ่งในวันนั้นวันเดียวมีประชาชนเสียชีวิตอย่างน้อย 38 คน
นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ทูตเมียนมาอีก 3 คน ซึ่งรวมถึงเลขานุการเอก และเลขานุการโท ที่ประจำการ ณ สำนักงานผู้แทนถาวรเมียนมาประจำสหประชาชาติที่กรุงเจนีวา ก็ประกาศจะยืนเคียงข้างประชาชนชาวเมียนมาที่กำลังยืนหยัดต่อสู้เพื่อกอบกู้และเรียกคืนประชาธิปไตยในเมียนมาอยู่ในเวลานี้ เจ้าหน้าที่ทูตทั้งสามวางแผนจะเข้าร่วมขบวนการเคลื่อนไหวไม่เชื่อฟังรัฐ อารยะขัดขืน หรือ CDM เช่นกัน
ส่วนที่เยอรมนี ดอว์ ชอว์ กัลยา เลขานุการตรีที่สถานเอกอัครราชทูตเมียนมาในกรุงเบอร์บิน บอกให้ทราบเช่นกันว่า เธอไม่ยินดีหรือเต็มใจที่จะปฏิบัติงานภายใต้ระบอบเผด็จการทหารเมียนมาอีกต่อไป เพราะยอมรับไม่ได้กับการที่กองทัพโค่นล้มรัฐบาลพลเรือน จับกุมคุมตัวนักการเมืองและประชาชนอย่างไร้ความยุติธรรม ยิ่งกว่านั้น ยอมรับไม่ได้กับ “กลุ่มก่อการร้าย” ที่เข่นฆ่าประชาชน
เจ้าหน้าที่ทูตเมียนมาที่ประกาศจุดยืนจะร่วมปฏิบัติการอารยะขัดขืนนั้น ต่างบอกว่า พวกเขาใช้สิทธิในการที่จะแสดงออกอย่างสันติ เพื่อยืนเคียงข้างประชาชนชาวเมียนมา และกล่าวเพิ่มเติมว่า พวกเขาจะไม่ลาออกจากตำแหน่งหน้าที่การงาน เพียงแต่จะไม่ยอมทำงานให้กับสภาบริหารแห่งรัฐของกองทัพ
ความเคลื่อนไหวของบรรดาเจ้าหน้าที่ทูตในต่างประเทศที่ปฏิเสธจะปฏิบัติงานให้กับกองทัพเมียนมา เกิดขึ้นตามมาหลังจาก อู จ่อ โม ตุน เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรเมียนมาประจำสหประชาติ ณ นครนิวยอร์ก ประกาศแตกหักรัฐบาลทหารระหว่างการกล่าวคำแถลงการณ์ต่อที่ประชุมสมัชชาสหประชาติเมื่อเดือนก่อน โดยในแถลงการณ์ เขาวิงวอนให้ประชาคมโลกต่อต้านรัฐประหาร และช่วยให้การสนับสนุนรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง อีกทั้ง ยังได้ชู 3 นิ้ว สัญลักษณ์ที่ถูกใช้ในการแสดงออกเพื่อต่อต้านเผด็จการทหารเมียนมาในเวลานี้กลางที่ประชุมยูเอ็นด้วย
ขณะเดียวกัน ประชาชนชาวเมียนมาที่อาศัยในต่างประเทศ ทั้งประเทศตะวันตกและในเอเชีย ต่างก็พากันออกมาเรียกร้องให้บรรดาเจ้าหน้าที่ทางการทูตทั้งหลาย เข้าร่วมขบวนการเคลื่อนไหวอารยะขัดขืน ยืนเคียงข้างประชาชน ในแต่ละวัน ชาวเมียนมาในแต่ละประเทศนัดกันไปชุมนุมหน้าสถานทูตเมียนมาเพื่อเรียกร้องให้บรรดาเจ้าหน้าที่ทูตออกมาต่อสู้ร่วมกับประชาชน
เมื่อเร็วๆ นี้ มีรายงานว่า กระทรวงการต่างประเทศเมียนมาได้เรียกตัวเจ้าหน้าที่ทูตอย่างน้อย 100 คนที่ประจำการใน 19 ประเทศ กลับเมียนมาเป็นการด่วน ซึ่งรวมถึงผู้ที่ประจำการในสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร นอร์เวย์ จีน และญี่ปุ่น
ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่กองทัพเมียนมายึดอำนาจ จนถึงขณะนี้ มีประชาชนพลเรือนชาวเมียนมามากกว่า 50 คนแล้วที่ถูกเจ้าหน้าที่กองกำลังด้านความมั่นคงสังหารขณะเข้าร่วมการชุมนุมต่อต้านระบอบเผด็จหารทหารอย่างสันติ
เจ้าหน้าที่ทางการทูตเมียนมาที่ประจำการในต่างประเทศซึ่งปฏิเสธที่จะเชื่อฟังหรือทำตามคำสั่งของสภาบริหารแห่งรัฐ (ชื่อรัฐบาลทหารที่ปกครองเมียนมาเวลานี้) ต่างเร่งเร้าเรียกร้องให้กองทัพยอมรับและเคารพผลการเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้ว และคืนอำนาจให้กับประชาชน
พรรคสันนิบาติแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลายในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2563 กองทัพทำรัฐประหารในตอนเช้าวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 เพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนที่รัฐสภาชุดใหม่ที่พรรค NLD ครองที่นั่งส่วนใหญ่จะเริ่มเปิดสมัยประชุม โดยอ้างเหตุจำเป็นบังคับให้กองทัพต้องทำรัฐประหารคือต้องเข้ามาจัดการเกี่ยวกับการทุจริตเลือกตั้งในครั้งนั้น.- สำนักข่าวไทย
อ้างอิง : https://www.facebook.com/351574300169/posts/10158956683085170?sfns=mo
อ้างอิง : https://www.facebook.com/351574300169/posts/10158957705520170?sfns=mo