ฮ่องกง 14 ก.ย. – โลมาหลังโหนกที่พบเห็นได้ในน่านน้ำฮ่องกงมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น หลังจากเรือข้ามฟากความเร็วสูงหยุดให้บริการ เนื่องจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ส่งผลให้โลมาที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์มีแนวโน้มเพิ่มจำนวนอีกครั้ง
นางลินด์เซย์ พอร์เตอร์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลมหาวิทยาลัยเซนต์แอนดรูวส์ของสกอตแลนด์เผยว่า โลมาหลังโหนก ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อโลมาเผือกหรือโลมาสีชมพู กำลังย้ายถิ่นกลับมาอยู่บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำจูเจียง ทั้งที่ก่อนหน้านี้พวกมันพยายามเลี่ยงเนื่องจากการจราจรที่หนาแน่นของเรือข้ามฟากระหว่างฮ่องกงกับมาเก๊า นางพอร์เตอร์ยังระบุด้วยว่า โลมาหลังโหนกในบริเวณดังกล่าวเพิ่มจำนวนขึ้นถึงร้อยละ 30 ตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา เมื่อทางการประกาศหยุดให้บริการเรือข้ามฟาก ทำให้ให้นักวิทยาศาสตร์มีโอกาสศึกษาว่า สัญญาณเสียงใต้น้ำส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมของโลมาอย่างไร นางพอร์เตอร์และทีมงานหย่อนเครื่องขยายเสียงลงไปในน้ำและใช้โดรนสังเกตพฤติกรรมโลมา ผลการศึกษาพบว่า พวกมันปรับตัวได้เร็วเกิดคาดในสภาพแวดล้อมที่เงียบสงบ และดูเหมือนว่า ฝูงโลมาจะกลับมารวมตัวกันอีกครั้งเมื่อเสียงที่กระตุ้นให้เกิดความเครียดหายไป
คณะนักวิทยาศาสตร์คาดว่า มีโลมาหลังโหนกราว 2,000 ตัวในบริเวณปากแม่น้ำจูเจียง ขณะที่ทางการฮ่องกงเคยสำรวจปริมาณโลมาดังกล่าวในปีที่แล้วพบว่า มีเพียง 52 ตัวเท่านั้นที่อาศัยอยู่ในน่านน้ำของเกาะฮ่องกง แต่นางพอร์เตอร์เชื่อว่า โลมาอาจมีจำนวนมากกว่าที่ทางการรายงานเล็กน้อย และแม้ในขณะนี้อาจจะยังไม่สามารถหยุดการลดลงของจำนวนประชากรโลมาได้ แต่ผลการวิจัยที่เกิดขึ้นอาจช่วยประชากรโลมาในพื้นที่อื่น ๆ ทั่วโลก
ทางการฮ่องกงได้วางแผนอนุรักษ์โลมาด้วยการเปิดสวนน้ำ โดยใช้วิธีจำกัดการเดินทางของเรือ แต่ไม่ได้ห้ามเดินทาง และมีพื้นที่ในโครงการดังกล่าวถึง 3 แห่งที่พบเห็นฝูงโลมาอยู่บ่อยครั้ง อย่างไรก็ดี องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากลของฮ่องกง กลุ่มนักอนุรักษ์ รวมถึงนางพอร์เตอร์มีข้อโต้แย้งว่า มาตรการดังกล่าวยังไม่ดีพอสำหรับฝูงโลมา เนื่องจากพวกมันยังคงตกอยู่ในอันตรายจากการโดนเรือข้ามฟากพุ่งชนในบริเวณที่มีการคุ้มครองอยู่ดี. – สำนักข่าวไทย