กัวลาลัมเปอร์ 10 ส.ค.- บริษัทผลิตถุงมือยางใหญ่ที่สุดในโลกของมาเลเซียเผยว่า ได้เริ่มจ่ายเงินเยียวยาแรงงานต่างชาติที่เข้ามาก่อนที่บริษัทปรับปรุงระบบการจ้างงานให้มีจริยธรรม หลังจากถูกสหรัฐสั่งกักถุงมือยางนำเข้าจากบริษัทในเครือ
ท้อปโกลฟคอร์ปอเรชัน ผู้ผลิตถุงมือยางและสินค้าทางการแพทย์ที่ทำจากยาง มีโรงงาน 45 แห่งในมาเลเซีย ไทย จีน และเวียดนาม ครองส่วนแบ่งตลาดถุงมือยางโลกร้อยละ 26 บริษัทชี้แจงต่อตลาดหลักทรัพย์มาเลเซียว่า ได้จ่ายเงินเยียวยางวดแรกจำนวน 4.4 ล้านริงกิต (ราว 32.66 ล้านบาท) ให้แก่พนักงานที่จ้างก่อนปี 2562 แล้ว ส่วนเงินเยียวยาทั้งหมดที่ประมาณการไว้ที่ 53 ล้านริงกิต (ราว 393.5 ล้านบาท) ขึ้นอยู่กับการตกลงกับสำนักงานศุลกากรและคุ้มครองชายแดนสหรัฐหรือซีบีพี (CBP) บริษัทกำลังหารือกับซีบีพีอย่างแข็งขันเพื่อแก้ไขเรื่องคำสั่งกักสินค้าชั่วคราว (Withhold Release Order หรือ WRO) อย่างฉับไว ก่อนหน้านี้บริษัทเผยว่า มีความคืบหน้าในการหารือและคาดว่าจะแก้ปัญหาได้ภายในเดือนนี้
สหรัฐเป็นผู้นำเข้าถุงมือยางทางการแพทย์รายใหญ่ของโลก ความต้องการนำเข้าเพิ่มขึ้นมากเพราะโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 แพร่ระบาด ซีบีพีได้สั่งกักสินค้านำเข้าจากบริษัทสองแห่งในเครือท้อปโกลฟตามที่สงสัยว่ามีการบังคับใช้แรงงาน รอยเตอร์อธิบายเพิ่มเติมว่า ปกติแล้วแรงงานต่างชาติต้องจ่ายเงินให้แก่บริษัทจัดหางานเพื่อมาทำงานในมาเลเซีย ส่วนใหญ่เป็นหนี้ที่พวกเขาต้องทำงานใช้ ก่อนหน้านี้ฮาร์ทาเลกาโฮลดิงส์ บริษัทถุงมือยางอีกแห่งของมาเลเซียแจ้งว่า ตั้งแต่ไตรมาสสี่ของปีนี้จะเริ่มจ่ายเงินชดเชยสูงสุด 40 ล้านริงกิต (ราว 297 ล้านบาท) ให้แก่แรงงานต่างชาติที่จ่ายเงินให้แก่บริษัทจัดหางาน.-สำนักข่าวไทย