กทม. 16 มิ.ย. – สำนักข่าวต่างประเทศรายงานถึงการยกเลิกเคอร์ฟิวและคลายล็อกเฟส 4 ของประเทศไทยไปทั่วโลก ทั้งซีซีทีวีและเอพี แต่ระบุว่าบรรยากาศยังไม่เหมือนก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19
ซีซีทีวีของจีนรายงานว่า หลัง ศบค.กำหนดยกเลิกเคอร์ฟิวและผ่อนปรนกิจกรรมและกิจการในเฟส 4 ผู้สื่อข่าวเดินทางไปที่ถนนเยาวราช ไชน่าทาวน์ของกรุงเทพมหานคร เป็นย่านที่มีชื่อเสียงเรื่องร้านอาหารยามค่ำคืนที่เคยเปิดกันอย่างคึกคักเนืองแน่นตามสองข้างถนน ซึ่งตั้งแต่การประกาศใช้เคอร์ฟิวร้านทั้งสองฝั่งข้างถนนต้องปิดการให้บริการในเวลา 20.00 น. ทุกวัน มีเพียงท้องถนนที่ว่างเปล่าสงบเงียบในช่วงเวลาเคอร์ฟิว
อย่างไรก็ตาม ในคืนแรกของการยกเลิกเคอร์ฟิว ถนนแห่งนี้ดูเหมือนจะยังเงียบเหงา ประชาชนยังต้องสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ออกจากบ้าน รวมถึงธุรกิจต่างๆ และผู้ค้าที่กลับมาดำเนินกิจการอีกครั้ง จะต้องปฏิบัติตามระเบียบ และมาตรการที่เข้มงวดต่อไป
ตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคม ประเทศไทยไม่พบการติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ เป็นคนไทยที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ ดังนั้นตอนนี้ประเทศไทยจึงเฝ้าระวังผู้ที่จะเดินทางกลับมาจากต่างประเทศเป็นหลัก และยังคงปิดด่านชายแดนทุกด่าน
ร้านอาหารดีใจเปิดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้อีกครั้ง
ส่วนสำนักข่าวเอพี ระบุว่า ร้านอาหารในประเทศไทยกลับมาเปิดให้บริการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อีกครั้ง และสามารถเปิดได้จนถึงช่วงดึก โดยที่ไม่มีข้อจำกัดด้านเคอร์ฟิวอีกต่อไป หลังจากได้รับอนุมัติผ่อนคลายในเฟส 4 คนจำนวนมากยังคงนิยมดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ร่วมกับการรับประทานอาหารมื้อเย็น พวกเขาดีใจไม่น้อย และบอกว่าถ้าไม่มีแอลกอฮอล์ให้ดื่มในร้านอาหาร สู้นั่งกินข้าวที่บ้านจะดีกว่า
เจ้าของร้านอาหารรายหนึ่งในกรุงเทพฯ พูดถึงการกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งว่า ดีใจมาก เพราะขาดรายได้มานานมาก อย่างน้อยก็หวังว่าจะได้ทุนคืน หรือมีกำไรบ้างเล็กน้อย เพราะช่วงที่ปิดมานานมากกว่า 2 เดือน จากมาตรการล็อกดาวน์ และการจัดระเบียบเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหาร ทำให้มีรายจ่ายมากกว่ารายได้ ขณะที่ไม่มีชาวต่างชาติมาใช้บริการ ต้องพึ่งลูกค้าภายในประเทศเท่านั้น การได้เปิดร้านอีกครั้ง เหมือนการเปิดร้านใหม่ครั้งแรกที่ไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น
เมแกน ลีออน (Megan Leon) นักเขียนด้านอาหารที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ เชื่อว่าอาหารไทยที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักดีในโลก กำลังอยู่ในภาวะสั่นคลอน และคิดว่าร้านอาหาร 20-30% อาจไปไม่รอด โดยเฉพาะในย่านร้านหรู
ขณะที่ ลัดดา สำเภาทอง นายกสมาคมธุรกิจร้านอาหารไทย เห็นว่าจะมีร้านอาหารที่ปิดกิจการถึง 15% ส่วนใหญ่เป็นร้านอาหารขนาดกลาง ขนาดใหญ่ และร้านที่เพิ่งเริ่มเปิดกิจการ ช่วงต่อจากนี้ไป 12-18 เดือน จะเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากสำหรับร้านอาหาร. – สำนักข่าวไทย