แฟรงค์เฟิร์ต 30 พ.ค.- เยอรมนีและสหภาพยุโรปหรืออียู (EU) บรรลุข้อตกลงเรื่องแผนการช่วยเหลือลุฟต์ฮันซา สายการบินใหญ่ที่สุดในเยอรมนีแล้ว หลังได้รับผลกระทบหนักจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ที่ทำให้ฝูงบินจอดเกือบทั้งหมด
ลุฟต์ฮันซากรุ๊ปซึ่งมีสายการบินในเครือจำนวนมากขาดทุนชั่วโมงละ 1 ล้านยูโร (ราว 35.32 ล้านบาท) จากการจอดเครื่องบินร้อยละ 90 ของที่มีอยู่ทั้งหมด 760 ลำ โฆษกคณะกรรมาธิการยุโรป ซึ่งเป็นหน่วยงานบริหารอียูเผยว่า ภายใต้ข้อตกลงดังกล่าว ลุฟต์ฮันซาจะยกเลิกเครื่องบิน 8 ลำและสิทธิการลงจอด ขณะที่ลุฟต์ฮันซาแถลงว่า ยอมรับในสิ่งที่เยอรมนีเสนอต่อคณะกรรมาธิการยุโรปเพื่อรับมาตรการช่วยเหลือ และจะสละเลนสำหรับขึ้นลงเครื่องบิน 24 เลนเพื่อนำไปจัดสรรให้แก่สายการบินอื่น ก่อนหน้านี้สื่อในเยอรมนีรายงานว่า คณะกรรมาธิการยุโรปจะขอให้ลุฟต์ฮันซาสละสิทธิการขึ้นลงเครื่องบินที่ท่าอากาศยานแฟรงต์เฟิร์ตและมิวนิก ซึ่งเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค แลกกับการให้อียูอนุมัติความช่วยเหลือ
มาตรการความช่วยเหลือมูลค่า 9,000 ล้านยูโร (ราว317,879 ล้านบาท) จะให้รัฐบาลเยอรมนีเข้าไปถือหุ้นร้อยละ 20 ในลุฟต์ฮันซากรุ๊ป และสามารถถือเพิ่มอีกร้อยละ 5 บวกหนึ่งหุ้น เพื่อสกัดการควบรวมกิจการแบบไม่เป็นมิตร เพราะรัฐบาลจะกลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุด ด้านเคเอฟดับเบิลยู (KfW) ธนาคารเพื่อการพัฒนาของรัฐบาลจะให้ลุฟต์ฮันซากู้อีก 3,000 ล้านยูโร (ราว 105,960 ล้านบาท) นอกเหนือจากเงินพิเศษ 5,700 ล้านยูโร (ราว 201,323 ล้านบาท) และเงิน 300 ล้านยูโร (ราว 10,596 ล้านบาท) สำหรับซื้อหุ้นตามมูลค่าที่ตราไว้ ลุฟต์ฮันซาตกลงจะชำระเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย และจัดสรรที่นั่งในคณะกรรมการกำกับดูแลให้รัฐ 2 ที่นั่ง เอเอฟพีระบุว่า การกำหนดรายละเอียดมาตรการนี้กินเวลานาน เนื่องจากกลุ่มอนุรักษ์นิยมในรัฐบาลต้องการให้รัฐมีอำนาจควบคุมการบริหารงานของลุฟต์ฮันซาให้น้อยที่สุด.-สำนักข่าวไทย