เซี่ยงไฮ้ 16 ม.ค.- นักวิจัยชี้ว่า คุณภาพอากาศในพื้นที่รอบกรุงปักกิ่งและนครเซี่ยงไฮ้ของจีนดีขึ้นมากเมื่อปลายปีที่แล้ว แต่พื้นที่ส่วนอื่น ๆ ของจีนกลับแย่ลงเพราะโรงงานก่อมลพิษถูกย้ายไปยังพื้นที่เหล่านี้ ไม่ได้ถูกปิดแต่อย่างใด
ศูนย์วิจัยพลังงานและอากาศสะอาดในฟินแลนด์ระบุว่า ภูมิภาคปักกิ่ง-เทียนจิน-เหอเป่ยและภูมิภาคสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซีมีแนวโน้มจะทำได้ตามเป้าหมายเรื่องลดความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาดพีเอ็ม 2.5 (PM2.5) ลงได้ร้อยละ 4 และร้อยละ 2 ภายในเดือนมีนาคมปีนี้ตามลำดับ ตามที่นายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียงเปิดฉากสงครามปราบปรามมลพิษในปี 2557 เน้นลดมลพิษในสองภูมิภาคนี้ที่มีปริมาณมลพิษทางอากาศสูงกว่ามาตรฐานประเทศ เพราะมีโรงงานหนาแน่นและมีความอ่อนไหวทางการเมือง อย่างไรก็ดี ความเข้มข้นของพีเอ็ม 2.5 เฉลี่ยในจีนกลับไม่เปลี่ยนแปลงในไตรมาสสุดท้ายของปีก่อน เพราะมลพิษในมณฑลเฮยหลงเจียง เจียงซี และกวางตุ้งเพิ่มขึ้นในระดับตัวเลขสองหลัก พื้นที่อื่นนอกกรุงปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้แทบไม่มีความคืบหน้าในการลดมลพิษและยังคงเพิ่มการใช้พลังงานจากน้ำมันและถ่านหินต่อไป
พีเอ็ม 2.5 ในกรุงปักกิ่งลดลงร้อยละ 18 ระหว่างเดือนตุลาคม-ธันวาคมปีก่อน พีเอ็ม 2.5 ในพื้นที่รอบมณฑลเหอเป่ย แหล่งผลิตเหล็กและมีมลพิษสูงที่สุดในประเทศก็ลดลงร้อยละ 18 จากปีก่อนหน้านี้ เพราะโรงงานก่อมลพิษย้ายไปอยู่ที่อื่น เห็นได้จากตัวเลขการผลิตเหล็กและซีเมนต์ในเหอเป่ยที่ลดลงร้อยละ 14 และร้อยละ 7 ในเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน สวนทางกับตัวเลขการผลิตทั่วประเทศที่เพิ่มขึ้น หากมองในภาพรวมทั้งประเทศจีนมีแนวโน้มจะทำได้ตามเป้าหมายคุณภาพอากาศปี 2559-2563 หลังจากลดพีเอ็ม 2.5 ลงได้กว่า 1 ใน 4 และลดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ลงได้กว่าครึ่ง แต่ก๊าซโอโซนระดับพื้นดินที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพกลับเพิ่มขึ้น ศูนย์วิจัยพลังงานและอากาศสะอาดเตือนว่า สงครามปราบปรามมลพิษของจีนกำลังได้ผลลดลง เพราะพึ่จีนงพาเทคโนโลยีควบคุมมากเกินไป แทนที่จะลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่เป็นต้นเหตุมลพิษ.- สำนักข่าวไทย