กานา 15 มี.ค.- สารคดีโลกวันนี้มีเรื่องราวของเกษตรกรในประเทศกานาที่หันมาผลิตช็อกโกแลตแทนการส่งออกผลโกโก้ เรื่องราวเป็นอย่างไรมาติดตามชมกัน
แต่ไหนแต่ไรมา กานาได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่เพาะปลูกและส่งออกผลโกโก้รายใหญ่อันดับ 2 ของโลก เกษตรกรสามารถปลูกโกโก้ส่งออกได้ถึงปีละ 9 แสนตัน แต่ปัจจุบันมีการนำผลโกโก้มาผลิตเป็นช็อกโกแลตเพิ่มมากขึ้น
นิโคลัส นาร์วอร์ตี้ เกษตรกรผู้ปลูกโกโก้เชื่อว่า หากมีการผลิตช็อกโกแลตในกานามากขึ้น เกษตรกรรายเล็กๆ อย่างเขาก็จะได้ประโยชน์ และเห็นว่าคงจะดีกว่าหากจะผลิตช็อกโกแลตในประเทศแทนที่จะส่งออกผลโกโก้
ดร.คริสตี้ เลสเซล ผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับเรื่องราวของอุตสาหกรรมช็อกโกแลตและโกโก้เล่าว่า เมื่อครั้งที่เดินทางมากานาเมื่อปี 2542 เธอพบว่ามีช็อกโกแลตเพียงยี่ห้อเดียวที่ระบุว่าผลิตในประเทศกานา แต่เมื่อเธอกลับมาประเทศนี้อีกครั้งเมื่อปีที่แล้ว เธอรู้สึกดีใจมากที่เห็นช็อกโกแลตหลากหลายยี่ห้อ
บริษัทนิช ซึ่งเป็นผู้ส่งออกช็อกโกแลตรายใหญ่ของกานาได้เริ่มผลิตช็อกโกแลตของตนเองเมื่อปี 2560 และปัจจุบันสามารถผลิตได้ปีละ 200 ตัน โดยทางบริษัทได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล เพราะตั้งโรงงานในเขตที่รัฐบาลกำหนด บริษัทได้รับยกเว้นภาษีนำเข้าเครื่องจักร และได้สิทธิพักชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลาถึง 10 ปี แต่ผู้ผลิตช็อกโกแลตส่วนใหญ่ในกานาที่ไม่ได้มีสถานประกอบการอยู่ภายในพื้นที่ของทางการจะไม่ได้รับการช่วยเหลือ นอกจากนี้ ยังต้องประสบปัญหากระแสไฟฟ้าขัดข้องบ่อยครั้ง
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจช็อกโกแลตในกานา ได้ขยายตัวจาก 2 ยี่ห้อเป็น 10 ยี่ห้อ ระหว่างปี 2555 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งแม้ว่าตลาดผู้บริโภคช็อกโกแลตจะจำกัดอยู่แค่กลุ่มคนชั้นกลางไม่มากนัก แต่ตลาดส่งออกกลับเปิดกว้างให้ผู้ผลิตรายใหม่ๆ.-สำนักข่าวไทย