เจนีวา 18 ธ.ค.- รายงานของเวทีเศรษฐกิจโลกหรือเวิลด์อีโคโนมิกฟอรัม (ดับเบิลยูอีเอฟ) ระบุว่า ต้องใช้เวลาอีก 202 ปี จึงจะไม่มีช่องว่างในที่ทำงานระหว่างชายและหญิงทั่วโลก ขณะที่ไทยมีความเท่าเทียมระหว่างเพศอยู่ในอันดับที่ 73 ของโลก
ดับเบิลยูอีเอฟออกรายงานในวันนี้เรื่องความไม่เท่าเทียมระหว่างเพศ 149 ประเทศ ใน 4 ด้าน ประกอบด้วยการศึกษา สาธารณสุข การมีส่วนร่วมและโอกาสทางเศรษฐกิจ และการเพิ่มอำนาจทางการเมือง พบว่า ความเท่าเทียมเรื่องค่าจ้างชายหญิงปี 2561 ดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน แต่ช่องว่างระหว่างเพศกลับกว้างขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบทศวรรษ เพราะสัดส่วนสตรีในแวดวงการเมืองและการเข้าถึงบริการสาธารณสุขและการศึกษาลดลงมาก โดยเฉลี่ยแล้วต้องใช้เวลาอีก 108 ปี จึงจะไม่มีความไม่เท่าเทียมทางเพศในทุกด้าน แต่หากเป็นเรื่องความไม่เท่าเทียมในที่ทำงานต้องใช้เวลาอีก 202 ปี
รายงานพบว่า ขณะนี้สัดส่วนสตรีทำงานมีน้อยกว่าชาย อาจเป็นเพราะการใช้ระบบอัตโนมัติกระทบต่องานที่เดิมเป็นงานของสตรี ประกอบกับมีสตรีน้อยมากในภาคที่มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นซึ่งต้องใช้ทักษะทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศกรรม และคณิตศาสตร์ โดยเฉพาะงานด้านปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอที่มีสตรีเพียงร้อยละ 22 ช่องว่างนี้สูงกว่างานที่ต้องใช้ทักษะเทคโนโลยีอื่น ๆ ถึงสามเท่า
หากแยกเป็นรายภูมิภาคพบว่า ยุโรปตะวันตกจะปิดช่องว่างระหว่างเพศในภาพรวมทั้งหมดได้ภายใน 61 ปี เอเชียใต้ 70 ปี ลาตินอเมริกาและแคริบเบียน 74 ปี ยุโรปตะวันออกและเอเชียกลาง 124 ปี แอฟริกาที่อยู่ใต้ทะเลทรายซาฮารา 135 ปี ตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ 153 ปี อเมริกาเหนือ 165 ปี เอเชียและแปซิฟิก 171 ปี
ประเทศที่มีความเท่าเทียมระหว่างเพศมากที่สุด 10 อันดับแรกได้แก่ ไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ สวีเดน ฟินแลนด์ นิการากัว รวันดา นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ ไอร์แลนด์ และนามิเบีย ส่วนไทยอยู่อันดับที่ 73 ลดลงจากอันดับที่ 40 ในรายงานที่จัดทำครั้งแรกในปี 2549.- สำนักข่าวไทย (อ่านรายงานฉบับเต็มของดับเบิลยูอีเอฟได้ที่ http://www3.weforum.org/docs/WEF_GGGR_2018.pdf)