มาเลเซีย 10 พ.ค. – อนาคตของมาเลเซียเพื่อนบ้านของไทย ยังคงตกอยู่ในความไม่แน่นอน หลัง ดร.มหาเธร์ โมฮัมหมัด สร้างประวัติศาสตร์หวนกลับสู่วงการเมืองมาเลเซียได้อีกครั้งในวัย 92 ปี โดยยังมีหลายคำถามที่ยังไม่มีคำตอบชัดเจน เช่น การเปลี่ยนถ่ายอำนาจการปกครองประเทศจะดำเนินไปอย่างราบรื่นหรือไม่ รวมถึงแผนการของมหาเธร์ที่เตรียมขอพระราชทานอภัยโทษให้นายอันวาร์ อิบราฮิม เพื่อปูทางให้เขากลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีภายในเวลา 2 ปี จะมีอุปสรรคใดขัดขวางหรือไม่
ชัยชนะของ ดร.มหาเธร์ ในการเลือกตั้งครั้งนี้ แทบจะเป็นสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิด นักวิเคราะห์เรียกมันว่า เป็นคลื่นสึนามิของชาวมาเลเซีย โดยกลุ่มคนหลากเชื้อชาติในมาเลเซียต่างรวมพลังเป็นหนึ่งเดียว เพื่อโค่นรัฐบาลนายนาจิบ จากนี้ไปการเมืองมาเลเซียจะเกิดการเปลี่ยนแปลงเหมือนเกิดแผ่นดินไหว ขณะที่โลกโซเชียลต่างแสดงความเห็นต่าง ๆ นานา บางคนบอกว่าไม่อยากเชื่อว่า มหาเธร์จะโค่นอำนาจนายนาจิบได้สำเร็จ บางคนก็บอกว่าพวกเขาหลั่งน้ำตาด้วยความปลื้มปีติ
มหาเธร์เคยประกาศก่อนเลือกตั้งว่า หากชนะเลือกตั้ง และจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ เขาจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนการทุจริตเงินกองทุน 1MDB อย่างจริงจัง โดยกองทุนดังกล่าวนายนาจิบตั้งขึ้นเพื่อนำเงินไปลงทุนในต่างประเทศ เพื่อนำเงินกลับมาพัฒนาเศรษฐกิจมาเลเซีย แต่ไปๆ มาๆ เงินกลับถูกโอนไปเข้ากระเป๋านายนาจิบ ถึง 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มหาเธร์ยังประกาศ จะยกเลิกการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มที่นายนาจิบประกาศใช้จนทำให้เกิดภาวะข้าวยากหมากแพงในมาเลเซีย ที่สร้างความไม่พอใจให้ชาวมาเลเซียอย่างมาก มหาเธร์ยังมีนโยบายสร้างความเป็นอิสระให้กับสถาบันตุลาการ รัฐสภา สำนักงานอัยการสูงสุด และสถาบันอิสระอื่น ๆ มหาเธร์ยังสร้างความมั่นใจให้กลุ่มชาวมลายูที่นับถือศาสนาอิสลาม หรือกลุ่มภูมิบุตรว่า สิทธิพิเศษที่พวกเขา เคยได้รับจะไม่ถูกลิดรอน เพราะคนกลุ่มนี้คือประชากรส่วนใหญ่ของชาติ คือ คิดเป็น 68.8% ของประชากร ทั้งประเทศ 28,700,000 คน
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์กล่าวว่า ชัยชนะของมหาเธร์อาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจมาเลเซีย เพราะมหาเธร์ประกาศจะยกเลิกการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่เรียกเก็บจากสินค้าและบริการ ภายใน 100 วัน หลังเข้ารับตำแหน่ง ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็หมายความว่า ฐานรายได้ของภาครัฐจะลดลง และทำให้สถานะความน่าเชื่อถือทางการเงินของมาเลเซียติดลบ มหาเธร์เคยได้รับฉายาว่าเป็นสถาปนิกผู้สร้างมาเลเซียยุคใหม่ จากความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจมาเลเซียเข้าสู่ยุคอุตสหกรรม ผ่านนโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจ
ตลอดช่วงการเป็นนายกรัฐมนตรี ยาวนาน 22 ปี เขาได้ทำให้มาเลซียกลายเป็นประเทศที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูง เป็นที่น่าจับตามองของโลก แต่ถึงกระนั้นชาวมาเลย์จำนวนมากก็ยังคงยากจน ส่วนใหญ่ทำงานในด้านเกษตรกรรม แต่มหาเธร์ท้าทายให้ชาวมาเลเซียทำงานหนัก เป้าหมายแรกคือการหยุดพึ่งพาชาติตะวันตก กำหนดนโยบายใหม่ที่เรียกว่า มองตะวันออก โดยยกแม่แบบการพัฒนาของเกาหลีใต้และญี่ปุ่นเป็นหลัก เพื่อมุ่งพัฒนาประเทศให้ทันสมัย แทนที่จะมองอังกฤษ อดีตเจ้าอาณานิคม นอกจากนี้ยังสร้างแบรนด์รถยนต์สัญชาติมาเลเซีย ชื่อ โปรตอน เขาเปลี่ยนมาเลเซียจากเดิมที่ส่งออกแต่ยางพาราเป็นหลัก มาเป็นผู้ส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ มหาเธร์ยังสร้างนครปุตตราจายาสนามบินใหม่ สาธารณูปโภคใหม่ ๆ รวมถึงไอคอนสัญลักษณ์โดดเด่นของมาเลเซีย จวบจนทุกวันนี้ คือ อาคารแฝดปิโตรนาส
วันนี้มหาเธร์กลายเป็นนายกรัฐมนตรีที่มีอายุมากที่สุดในโลก คือ 92 ปี เขาวางไพ่ใบสุดท้ายโดยระบุว่า จะเป็นนายกไม่เกิน 2 ปี และเตรียมถ่ายโอนอำนาจให้นายอันวาร์ ด้วยการขอพระราชทานอภัยโทษให้นายอันวาร์แล้วส่งไม้ต่อให้เขา แต่ก็ต้องจับตากันต่อไปว่าวัฏจักรการเมืองมาเลเซียจะหลุดพ้นจากผู้เล่นหน้าเดิม ๆ 3 คน คือนาจิบ ราซัค, มหาเธร์ โมฮัมหมัด และอันวาร์ อิบราฮิม ได้หรือไม่ ขณะที่สื่อทั่วโลกระบุว่า ชัยชนะของมหาเธร์ครั้งนี้เป็นเหตุการณ์ที่น่าทึ่ง Wall Street Journal รายงานว่าเหตุการณ์นี้สร้างแรงสั่นสะเทือนต่อกลไกการเมืองที่ครองอำนาจในมาเลเซียแต่เพียงพรรคเดียวมานานถึง 61 ปี
ขณะที่ไทยเชื่อว่าการเปลี่ยนขั้วทางการเมืองในมาเลเซียจะไม่กระทบต่อการร่วมมือกันแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ของไทย เพราะมาเลเซียก็ต้องการให้เกิดสันติสุข ไทยสามารถคุยกันได้กับทุกคน อย่างไรก็ตาม วันนี้ค่าเงินริงกิตของมาเลเซียอ่อนค่ามากที่สุดในรอบ 1 เดือน โดยนักวิเคราะห์มองว่ามาเลเซียไม่เคยเปลี่ยนขั้วอำนาจ ขณะที่รัฐบาลชุดใหม่ที่กำลังจะเข้ามารับตำแหน่ง ก็ยังไม่มีประสบการณ์ การจะสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนยังจำเป็นต้องใช้เวลา.- สำนักข่าวไทย