fbpx

TNA News-Now-Next: ไต้หวันกับแผ่นดินไหว หนีไม่พ้นแต่ต้องอยู่ให้ได้

ฮวาเหลียน 5 เม.ย.- แผ่นดินไหวในไต้หวันเมื่อวันที่ 3 เมษายนที่ผ่านมาถือว่าเป็นแผ่นดินไหวครั้งร้ายแรงที่สุดในรอบ 25 ปีของไต้หวัน หลายคนแปลกใจที่ตัวเลขคนเสียชีวิตและความเสียหายไม่มากอย่างที่คิด ทั้งที่แผ่นดินไหวมีขนาดใหญ่และศูนย์กลางไม่ลึก สะท้อนถึงสิ่งที่ไต้หวันได้เรียนรู้และดำเนินการเพื่อให้สามารถอยู่กับแผ่นดินไหวอย่างปลอดภัย


ตั้งอยู่บนจุดเสี่ยงเกิดแผ่นดินไหว

แผ่นดินไหวเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นบ่อยกับไต้หวันที่มีคนอาศัยอยู่ประมาณ 23 ล้านคน เพราะสภาพภูมิประเทศตั้งอยู่บนแนว “วงแหวนแห่งไฟ” หรือ Ring of Fire เป็นพื้นที่ที่ทอดตัวเป็นแนวรูปเกือกม้าบนแผ่นเปลือกโลกใต้มหาสมุทรแปซิฟิก มีความยาวประมาณ 40,000 กิโลเมตร และเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหวและภูเขาไฟระเบิดทั่วโลก


เครดิตภาพ: Gringer (talk)

ไต้หวันตั้งอยู่บนรอยต่อของแผ่นเปลือกโลก 2 แผ่นคือ แผ่นทะเลฟิลิปปินส์กับแผ่นเปลือกโลกยูเรเชีย จึงเสี่ยงที่จะเกิดแผ่นดินไหวเป็นพิเศษ เพราะแรงอัดสะสมของแผ่นเปลือกโลกทั้ง 2 แผ่นพร้อมจะปลดปล่อยแรงอัดออกมาในรูปของแผ่นดินไหวได้ตลอดเวลา รอยต่อที่ว่านี้ส่วนใหญ่อยู่ทางชายฝั่งตะวันออกของไต้หวัน ซึ่งเป็นจุดที่คนนิยมมาท่องเที่ยว เพราะมีทั้งเทือกเขา น้ำพุร้อน และธรรมชาติที่สวยงาม และด้วยความที่ภูมิประเทศเป็นเทือกเขา เวลาเกิดแผ่นดินไหว จึงทำให้ดินถล่ม ก้อนหินขนาดใหญ่และเศษดินจำนวนมากร่วงหล่นลงมาสร้างความเสียหายให้กับอุโมงค์และทางหลวงที่อยู่ด้านล่าง 

เครดิตภาพ: Hualien County Fire Department
หินถล่มที่เกาะเต่าหรือเกาะกุยซาน

ตามข้อมูลของสำนักงานสํารวจทางธรณีวิทยาของสหรัฐหรือ USGS นับตั้งแต่ปี 2523 เป็นต้นมาไต้หวันและบริเวณน่านน้ำโดยรอบเกิดแผ่นดินไหวที่มีขนาดตั้งแต่ 4.0 ขึ้นไปราว 2,000 ครั้ง ส่วนแผ่นดินไหวที่มีขนาดตั้งแต่ 5.5 ขึ้นไปเกิดขึ้นมากกว่า 100 ครั้ง

ไหวแรงแต่คนไม่แตกตื่น             


หน่วยงานตรวจสอบแผ่นดินไหวของไต้หวันแจ้งตัวเลขแผ่นดินไหวเมื่อวันพุธว่ามีขนาด 7.2  ขณะที่ USGS แจ้งว่ามีขนาด 7.4  สร้างความเสียหายให้กับอาคารหลายหลังในเทศมณฑลฮวาเหลียน แต่สร้างความเสียหายเพียงเล็กน้อยในกรุงไทเปที่เป็นเมืองหลวง แม้ว่ารับรู้แรงสั่นสะเทือนได้อย่างรุนแรง นอกจากนั้นแรงสั่นสะเทือนยังส่งไปถึงจีนและญี่ปุ่นด้วย

ยอดผู้เสียชีวิตหลังจากแผ่นดินไหวผ่านไป 2 วันคือวันนี้ 5 เมษายนอยู่ที่ 12 คน และบาดเจ็บอีกกว่า 1,000 คน มีอาคารบ้านเรือนและถนนเสียหาย บริการขนส่งสาธารณะหยุดชะงัก แผ่นดินไหวครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงชั่วโมงเร่งด่วนตอนเช้า แต่ก็ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของชาวไต้หวันเพียงเล็กน้อย เพราะหลังจากนั้นไม่กี่นาทีวิถีชีวิตของชาวไต้หวันก็กลับสู่สภาวะปกติ ผู้ปกครองพาลูกหลานไปส่งที่โรงเรียน ผู้คนยังคงสัญจรไปมาตามท้องถนนและเดินทางไปทำงานได้ตามปกติ

เตรียมพร้อมในทุกด้าน

ผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหวยกย่องให้การเตรียมพร้อมรับมือกับแผ่นดินไหวของไต้หวันมีความก้าวหน้าที่สุดแห่งหนึ่งในโลก โดยใช้ทั้งเทคโนโลยี กฎหมาย และการฝึกซ้อมมาใช้ร่วมกัน

เทคโนโลยีการสร้างอาคารให้ทนต่อแรงสั่นไหว

หลายบริษัทในไต้หวันใช้วัสดุก่อสร้างที่ทนต่อสภาพแรงสั่นสะเทือนแผ่นดินไหว ควบคู่ไปกับการที่ทางการใช้บทบัญญญัติด้านอาคารมาควบคุมการก่อสร้างอาคารอย่างเคร่งครัด ปรับปรุงกฏระเบียบและข้อบังคับสําหรับอาคารใหม่และอาคารที่มีอยู่เป็นประจำแม้ว่าจะทำให้ต้นทุนการก่อสร้างเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังให้เงินอุดหนุนแก่ผู้อยู่อาศัยที่ต้องการตรวจสอบความต้านทานแผ่นดินไหวของอาคารที่พักอาศัยของตนด้วย

ในปี 2559 หลังจากเกิดแผ่นดินไหวที่เมืองไถหนานทางชายฝั่งทางตะวันตกเฉียงใต้ของไต้หวันจนทำให้อาคารที่พักอาศัยสูง 17 ชั้นพังทลายลงมาและมีผู้เสียชีวิตหลายสิบคน ศาลได้ตัดสินจําคุกคน 5 คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อสร้างอาคารในความผิดฐานประมาทเลินเล่อ

ขณะเดียวกันก็มีการรณรงค์ให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเอาตัวรอดจากแผ่นดินไหวได้อย่างปลอดภัย มีการฝึกซ้อมรับมือแผ่นดินไหวทั้งในโรงเรียนและสำนักงานอย่างสม่ำเสมอ ด้านสื่อสาธารณะและผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนก็ให้ความร่วมมือด้วยการแจ้งเตือนเกี่ยวกับการเกิดแผ่นดินไหวและการรับมืออย่างปลอดภัย กระทรวงกิจการดิจิทัลที่เพิ่งตั้งขึ้นในปี 2565ได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานหลักในการดูแลเรื่องเครือข่ายการสื่อสารให้ใช้งานได้ในช่วงที่เกิดแผ่นดินไหว โดยพบว่าแผ่นดินไหวครั้งล่าสุด เครือข่ายการสื่อสารโดยเฉพาะอินเทอร์เน็ตแทบไม่ได้รับผลกระทบเลย

นอกจากนี้ไต้หวันยังจัดเตรียมหน่วยกู้ภัยไว้ตามเมืองและเทศมณฑลต่าง ๆ ตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อตอบสนองต่อภัยพิบัติได้ทันที และมีการซ้อมป้องกันภัยพลเรือนประจำปีเพื่อรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ  มาตรการเหล่านี้ช่วยให้ไต้หวันสามารถรับมือกับแผ่นดินไหวได้อย่างมีนัยสําคัญรวมถึงช่วยบรรเทาความเสียหายรุนแรงและการสูญเสียชีวิต

จุดเปลี่ยนที่ทำให้เตรียมพร้อม

จุดเปลี่ยนที่ทำให้ไต้หวันหันมาใส่ใจเรื่องการเตรียมพร้อมรับมือกับแผ่นดินไหวอย่างจริงจังเกิดขึ้นเมื่อกว่า 20 ปีก่อน เป็นธรณีพิโรธครั้งเลวร้ายที่สุดในช่วงหลายสิบปีของไต้หวันที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2542 หรือที่เรียกกันว่า แผ่นดินไหว 921 (มาจากเดือน 9 วันที่ 21) แผ่นดินไหวขนาด  7.7 คร่าชีวิตผู้คนไปมาถึง 2,400 คน และบาดเจ็บอีกราว 100,000 คน รวมถึงอาคารหลายพันหลังที่พังเสียหาย เหตุการณ์ภัยพิบัติในครั้งนั้นทำให้รัฐบาลไต้หวันในเวลานั้นแก้ไขบทบัญญัติด้านอาคารและใช้กฎหมายจัดการภัยพิบัติอย่างเคร่งครัด จนกระทั่งได้รับการยกย่องว่ามีความเตรียมพร้อมมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

TNA News-Now-Next: Final Thoughts

แผ่นดินไหวยังคงเป็นภัยธรรมชาติที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอีกหลายล้านปีข้างหน้า สิ่งที่เกิดขึ้นในไต้หวันเป็นตัวอย่างที่พิสูจน์ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า คำว่า “ถอดบทเรียน” ที่แท้จริงคืออะไร

ไต้หวันได้เรียนรู้และดำเนินการปรับปรุง ปกป้อง และป้องกันอย่างจริงจังเพื่อให้สามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับแผ่นดินไหว โดยมีการเตรียมความพร้อมเป็นอาวุธหลักในการรับมือกับภัยธรรมชาติที่ไม่อาจคาดคะเนได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด.-818(814).-สำนักข่าวไทย  

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

พบศพโบลท์หญิงวัย 47 ในป่าหญ้าริมทาง คาดถูกฆ่าชิงรถ

โบลท์หญิงวัย 47 ปี หายตัวจากบ้านพักย่านดินแดง 9 วัน ล่าสุดพบเป็นศพในป่าหญ้าริมถนนสายนครชัยศรี-ห้วยพลู อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม ส่วนรถยนต์โผล่ที่ จ.ภูเก็ต คาดถูกคนร้ายฆ่าชิงรถ

pagers on display

ทำไมยังมีการใช้ “เพจเจอร์” ในยุคสมาร์ทโฟน

ลอนดอน 19 ก.ย.- เพจเจอร์ หรือวิทยุติดตามตัวเป็นอุปกรณ์การสื่อสารยอดนิยมในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1990 ที่ต้องหลีกทางให้แก่โทรศัพท์เคลื่อนที่ เนื่องจากเป็นการสื่อสารทางเดียว แต่ยังคงมีการใช้งานในบางกลุ่ม รวมถึงกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ที่เพจเจอร์ระเบิดพร้อมกันหลายพันเครื่องทั่วเลบานอนเมื่อวันที่ 17 กันยายน แหล่งข่าวเผยว่า ฮิซบอลเลาะห์ใช้เพจเจอร์ เนื่องจากเป็นช่องทางสื่อสารเทคโนโลยีต่ำ ส่งข้อความผ่านสัญญาณวิทยุ จึงตรวจจับสัญญาณและตำแหน่งได้ยากกว่าโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ส่งสัญญาณไปยังเสาส่งที่อยู่ใกล้ที่สุด อีกทั้งไม่มีเทคโนโลยีระบุพิกัดบนพื้นโลกอย่างจีพีเอสด้วย อดีตเจ้าหน้าที่สำนักงานสอบสวนกลางหรือเอฟบีไอ (FBI) ของสหรัฐเผยว่า ในอดีตแก๊งอาชญากรรมโดยเฉพาะแก๊งค้ายาเสพติดในสหรัฐเคยนิยมใช้เพจเจอร์ แต่ขณะนี้หันมาใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่แบบเติมเงินราคาถูกที่สามารถเปลี่ยนเครื่องและหมายเลขได้อย่างง่ายดาย ทำให้เจ้าหน้าที่ติดตามแกะรอยได้ยาก อย่างไรก็ดี  ศัลยแพทย์โรงพยาบาลใหญ่แห่งหนึ่งในสหราชอาณาจักรเผยว่า เพจเจอร์เป็นอุปกรณ์ที่แพทย์และพยาบาลสังกัดสำนักงานบริการสุขภาพแห่งชาติหรือเอ็นเอชเอส (NHS) ต้องพกติดตัวอยู่เสมอ เพื่อรับแจ้งข่าวในการปฏิบัติหน้าที่ เป็นช่องทางที่ถูกที่สุดและมีประสิทธิภาพมากที่สุดในการแจ้งข่าวทางเดียวกับคนจำนวนมาก เพจเจอร์หลายรุ่นสามารถส่งเสียงไซเรนและมีข้อความเสียงแจ้งให้ทีมแพทย์ไปรวมตัวที่ห้องฉุกเฉินได้ทันที ข้อมูลล่าสุดในปี 2562 ระบุว่า เอ็นเอชเอสใช้เพจเจอร์ประมาณ 130,000 เครื่อง คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 1 ใน 10 ของที่ใช้ทั่วโลก คอกนิทีฟมาร์เก็ตรีเสิร์ช  (Cognitive Market Research) ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยคาดการณ์ว่า ตลาดเพจเจอร์จะเติบโตร้อยละ 5.9 ต่อปี จากปี 2566 ถึงปี 2573 […]

ข่าวแนะนำ

ชีวิตติดลบ! ชาวแม่สายจมน้ำจมโคลน 10 วันแทบหมดตัว

หลายชุมชนชายแดนแม่สาย เผชิญน้ำท่วมและจมโคลนมา 10 วันแล้ว อยู่ในสภาพแทบหมดตัว ต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่กับชีวิตที่ต้องติดลบจากน้ำท่วมครั้งนี้

อาลัย “อดีตแข้ง U19” ขับเบนซ์พลิกคว่ำดับพร้อมภรรยา

วงการลูกหนังอาลัย “อดีตนักเตะ U19” ขับเบนซ์พลิกคว่ำดับพร้อมภรรยา ชาวบ้านเผยจุดนี้เกิดอุบัติเหตุบ่อย ลงสะพานอย่าขับเร็ว

สอบเพิ่ม “ไอ้แม็ก” ฆ่าชิงทรัพย์หญิงขับโบลท์ ฝากขังพรุ่งนี้

ตำรวจคุมตัว “ไอ้แม็ก” สอบปากคำเพิ่มคดีฆ่าชิงทรัพย์โชเฟอร์สาวขับโบลท์ เจ้าตัวปฏิเสธไปชี้จุด อ้างปวดท้องไม่สบาย เตรียมฝากขังพรุ่งนี้