วอชิงตัน 22 มี.ค. -บริษัทสตาร์ทอัพแห่งหนึ่ง คิดค้นหุ่นยนต์เก็บขยะอวกาศ ซึ่งอาจถูกส่งขึ้นไปทำหน้าที่ดักจับเศษซากขยะในอวกาศเร็วๆ นี้ หลังจากพบว่ามีขยะอวกาศจำนวนมหาศาลอยู่รอบวงโคจรของโลก
หุ่นยนต์แขนกลแขนอาจถูกส่งขึ้นสู่อวกาศในเร็ว ๆ นี้ พร้อมกับภารกิจสำคัญ ดักจับเศษซากดาวเทียมเก่าและขยะอวกาศอื่นๆ ที่ลอยกระจัดกระจายอยู่รอบวงโคจรของโลก หุ่นยนต์ดังกล่าว ได้รับการพัฒนาโดย แอสโตรสเกล (Astroscale) บริษัทสตาร์ทอัพ เพื่อกำจัดเศษขยะในวงโคจร ด้วยวิสัยทัศน์ที่จะสร้างการพัฒนาอวกาศให้มีความปลอดภัยและยั่งยืน
ซีอีโอของแอสโตรสเกลบอกว่า ขยะอวกาศถือเป็นปัญหาใหญ่สำหรับทุกคนบนโลก ตั้งแต่เริ่มต้นยุคอวกาศในปี 2500 เป็นต้นมา มนุษย์ก็เริ่มทิ้งเศษซากในอวกาศจากการปล่อยวัตถุจำนวนมากขึ้นไปบนอวกาศ โดยไม่ได้คิดจะเอาวัตถุเหล่านี้กลับมา ไม่ได้รีไซเคิลหรือทำอะไรอย่างอื่น นอกเหนือจากซากดาวเทียมเก่าบางดวงที่เผาไหม้บนชั้นบรรยากาศไม่หมดและตกลงสู่พื้นโลก ดังนั้น จึงมีเศษซากขยะ 10,000 ตันในอวกาศ วัตถุเกือบ 40,000 ชิ้นลอยอยู่ในวงโคจรที่แตกต่างกัน นำมาซึ่งความแออัดในวงโคจรและเกิดการชนกันขึ้น
รัฐบาลและนักลงทุนกำลังหาทางแก้ปัญหาเพื่อรับมือกับสภาพแวดล้อมในวงโคจรที่ยุ่งเหยิง บริษัทแอสโตรสเกล ที่มีฐานอยู่ในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น แต่มีสาขาอยู่ในสหรัฐฯ และอังกฤษ ก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วย พวกเขากำลังทดสอบอุปกรณ์กำจัดขยะอวกาศที่เรียกว่า Active Debris Removal หรือ ADR ที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อดักจับดาวเทียมที่ปลดระวางแล้ว และลากไปยังชั้นบรรยากาศของโลกเพื่อทำลาย นอกจากนี้ บริษัทยังมองหาวิธีเติมเชื้อเพลิงให้ดาวเทียมในขณะที่ยังอยู่ในอวกาศ เพราะปัจจุบัน เมื่อดาวเทียมหมดเชื้อเพลิง ก็จะสิ้นสุดภารกิจ และกลายสภาพเป็นขยะในอวกาศ
แอสโตรสเกล หวังว่าจะ ยานเอดีอาร์จะถูกส่งขึ้นสู่วงโคจร เพื่อเริ่มทำหน้าที่เก็บขยะจากอวกาศได้ภายใน 2-3 ปีข้างหน้า.-815.-สำนักข่าวไทย