วอชิงตัน 25 มี.ค.- ติ๊กต็อก (TikTok) แอปพลิเคชันวิดีโอสั้นยอดนิยมมีแนวโน้มจะถูกสหรัฐห้ามใช้งานมากยิ่งขึ้น หลังจากประธานเจ้าหน้าที่บริหารหรือซีอีโอ (CEO) ถูกคณะกรรมาธิการในสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐซักถามอย่างหนัก
นายโซว จื่อ โจว ซีอีโอชาวสิงคโปร์วัย 40 ปี เข้าชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการพลังงานและพาณิชย์ในสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐเมื่อวันพฤหัสบดีตามเวลาสหรัฐ เขาถูกกรรมาธิการที่มาจากพรรครีพับลิกันและเดโมแครตยิงคำถามใส่อย่างไม่ยั้งและมักถูกตัดบทขณะชี้แจง ทำให้วาเนสซา พับพาส ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการหรือซีโอโอ (COO) ของติ๊กต็อกประณามว่า การเรียกเข้าชี้แจงดังกล่าวหยั่งรากลึกมาจากความรู้สึกเกลียดกลัวต่างชาติ
รัฐบาลสหรัฐได้ยื่นคำขาดให้ติ๊กต็อกตัดขาดจากไบแดนซ์ (ByteDance) บริษัทแม่ที่เป็นของจีนด้วยการขายกิจการหรือแยกตัวออกมา ไม่เช่นนั้นจะถูกห้ามใช้งานอย่างเด็ดขาดในสหรัฐ เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับการผ่านร่างกฎหมายรีสทริกต์ แอกต์ (RESTRICT ACT) ที่นำเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภาในเดือนนี้ เพราะให้อำนาจกระทรวงพาณิชย์สั่งห้ามใช้เทคโนโลยีต่างชาติที่เป็นภัยต่อความมั่นคงแห่งชาติ โฆษกทำเนียบขาวยืนยันว่า รัฐบาลสนับสนุนร่างกฎหมายดังกล่าว
รัฐบาลสหรัฐและติ๊กต็อกเจรจากันมานานถึง 2 ปี 6 เดือน ติ๊กต็อกเสนอจะดำเนินโครงการโปรเจกต์เทกซัส (Project Texas) เก็บข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานในสหรัฐไว้ในสหรัฐเท่านั้น โดยที่กฎหมายจีนหรือทางการจีนไม่สามารถเข้าถึงได้ แต่ถูกรัฐบาลสหรัฐบอกปัด หลังจากสำนักสอบสวนกลางหรือเอฟบีไอ (FBI) และกระทรวงยุติธรรมสหรัฐระบุว่า ติ๊กต็อกยังมีความเสี่ยงในเรื่องจีนอยู่ ด้านจีนยืนกรานไม่ขายติ๊กต็อกโดยอ้างกฎหมายจีนเรื่องการคุ้มครองเทคโนโลยีสำคัญไม่ให้ตกไปอยู่ในมือต่างชาติ ทั้งนี้หากติ๊กต็อก ซึ่งเป็นสื่อสังคมออนไลน์ยอดนิยมที่สุดในสหรัฐ มีคนหนุ่มสาวใช้งาน 150 ล้านคนถูกแบนในสหรัฐ ประโยชน์ก็จะตกไปสู่สื่อสังคมออนไลน์ของสหรัฐอย่างอินสตาแกรม (Instagram) สแนปแชท (Snapchat) และยูทูบ (YouTube).-สำนักข่าวไทย