ปักกิ่ง 18 ก.ค.- ทันทีที่นายเจนเซน หวง ซีอีโอ (CEO) ของเอ็นวิเดีย (NVIDIA) บริษัทชิปใหญ่ที่สุดในโลก ประกาศข่าวจะขายชิปรุ่นเอช 20 (H20) ในจีนอีกครั้ง ตามที่รัฐบาลสหรัฐกลับลำยอมไฟเขียวให้กะทันหัน มหาเศรษฐีอันดับ 9 ของโลกรายนี้ได้กลายเป็นกาวใจให้แก่ 2 ประเทศมหาอำนาจของโลกไปโดยปริยาย
ข่าวใหญ่-ข่าวดีของแวดวงไฮเทค
นายหวงใช้โอกาสเยือนจีนเป็นครั้งที่ 3 ของปีประกาศข่าวใหญ่เมื่อวันที่ 15 ก.ค.ว่า เอ็นวิเดียจะขายชิปรุ่นเอช 20 ซึ่งเป็นชิปเอไอ (AI) ทรงพลังให้แก่จีนอีกครั้ง หลังจากถูกสั่งห้ามจำหน่ายตั้งแต่เดือนเมษายน เพราะรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์กำหนดให้ต้องมีใบอนุญาตส่งออก

ก่อนหน้านั้น 1 วัน บล็อกของเอ็นวิเดียได้ลงข่าวว่า เอ็นวิเดียกำลังยื่นใบอนุญาตขอจำหน่ายชิปรุ่นเอช 20 อีกครั้ง หลังจากที่รัฐบาลสหรัฐได้ให้ความมั่นใจเรื่องออกใบอนุญาต ข่าวนี้ทำให้หุ้นของบริษัทเอ็นวิเดีย รวมถึงหุ้นกลุ่มบริษัทชิปปรับตัวสูงขึ้นกันถ้วนหน้า
รัฐบาลทรัมป์ออกมาตรการจำกัดการส่งออกชิปเอไอไปจีน เพราะไม่ต้องการให้จีนเข้าถึงชิปที่มีความล้ำสมัย นายฮาเวิร์ด ลุตนิค รัฐมนตรีพาณิชย์สหรัฐชี้แจงสาเหตุที่รัฐบาลกลับลำนโยบายว่า เรื่องนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเจรจาให้จีนกลับมาส่งออกแรร์เอิร์ธหรือธาตุหายากอีกครั้ง เพราะเป็นวัตถุดิบสำคัญในอุตสาหกรรมไฮเทคของสหรัฐ
CEO ผู้พยายามตีตัวออกห่างจากการเมือง
นายหวง ผู้มีทรัพย์สินสุทธิ 144,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 4.66 ล้านล้านบาท) ตามการประมาณการของนิตยสารฟอร์บส์ในปี 2568 เป็นหนึ่งในมหาเศรษฐีด้านเทคโนโลยีไม่กี่คนที่ไม่ไปร่วมพิธีสาบานตนของนายทรัมป์เมื่อวันที่ 20 มกราคม โดยใช้ช่วงเวลานั้นเดินทางไปจีนและไต้หวันแทน
ส่วนในการเยือนจีนสัปดาห์นี้เขาได้โชว์การพูดภาษาจีนกลางในงานเอ็กซ์โปแห่งหนึ่งที่กรุงปักกิ่ง ตามที่เจ้าภาพซึ่งเป็นอดีตเจ้าหน้าที่กระทรวงพาณิชย์จีนร้องขอ นอกจากนี้ยังได้พบสนทนากับนายเหอ ลี่เฟิง รองนายกรัฐมนตรีจีนที่เป็นหัวหน้าคณะเจรจาการค้าของจีน และนายหวัง เหวินเทา รัฐมนตรีพาณิชย์ของจีน แต่ยังไม่ได้รับเชิญให้เข้าพบประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เขาใช้โอกาสนี้บอกกับกลุ่มผู้สื่อข่าวจีนว่า ไม่ได้เป็นคนที่ทำให้ประธานาธิบดีทรัมป์เปลี่ยนใจเรื่องจำกัดการส่งออกชิปไปจีน ตามที่มีกระแสข่าวลือ
CEO ผู้อยู่เป็นและหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง
นายหวง วัย 62 ปี เกิดในไต้หวัน บิดามารดาเป็นชาวไต้หวันที่อพยพเข้าสหรัฐ ปัจจุบันเขามีทั้งสัญชาติไต้หวันและสัญชาติอเมริกัน เคยใช้ชีวิตวัยเด็กที่ไทยราว 4 ปี โดยย้ายตามบิดาที่มาทำงานในไทยในขณะที่เขามีอายุเพียง 5 ขวบ
ช่วงหลายปีมานี้นายหวงได้แสดงให้เห็นว่า เขาสามารถปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมท้องถิ่นของจีนและเป็นที่ชื่นชอบทุกครั้งที่ไปเยือนจีน คลิปที่เขาสวมเสื้อกั๊กพิมพ์ลายดอกแบบจีนและเต้นรำไปพร้อมกับโบกผ้าสีแดงในงานเลี้ยงประจำปีของบริษัทเมื่อปีที่แล้วได้กลายเป็นคลิปไวรัลไปทั่วประเทศจีน
ขณะเดียวกันเขาพยายามหลีกเลี่ยงสิ่งที่ประเด็นถกเถียง และจำกัดการแสดงความเห็นเกี่ยวกับช่องแคบไต้หวันที่อาจทำให้รัฐบาลจีนไม่พอใจ
Final Thoughts: ภารกิจ “กาวใจ” ของ CEO ชั่วคราวหรือยั่งยืน
นายเฟิง ชูเฉิง ผู้ร่วมก่อตั้งหู่ตงรีเสิร์ช (Hutong Research) บริษัทวิจัยในจีน เชื่อว่า นายหวงมีความสัมพันธ์อันดีกับรัฐบาลทรัมป์อย่างแน่นอน และมองว่า ธุรกิจชิปของเขาเป็นประเด็นขัดแย้งใหญ่ที่สุดประเด็นหนึ่งของสหรัฐกับจีน จึงอาจเป็นไปได้ว่าผู้นำของทั้ง 2 ประเทศต้องการใช้เขาเป็นช่องทางในการสื่อสารกัน แต่นายหวงเต็มใจรับภารกิจนี้หรือไม่ ยังไม่อาจตอบได้
ที่ผ่านมามีประธานเจ้าหน้าที่บริหารหรือซีอีโอหลายคนที่พยายามทำหน้าที่นักการทูตระหว่างสหรัฐกับจีน หวังปกป้องธุรกิจของตนเองใน 2 เศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก นายทิม คุ้ก แห่งแอปเปิลเดินทางไปจีนอยู่เสมอควบคู่ไปกับการรักษาความสัมพันธ์กับรัฐบาลทรัมป์ เช่นเดียวกับนายอีลอน มัสก์ แห่งเทสลา ที่มีธุรกิจรถไฟฟ้าในจีน แต่ขณะนี้ทั้ง 2 คนไม่ได้เป็นคนโปรดของผู้นำสหรัฐผู้ได้ชื่อว่า เป็นบุคคลที่คาดเดาได้ยาก อีกแล้ว
ขณะเดียวกันนายโดมินิก ชิว นักวิเคราะห์อาวุโสของยูเรเซียกรุ๊ป (Eurasia Group) บริษัทที่ปรึกษาความเสี่ยงทางการเมืองที่ตั้งอยู่ในสหรัฐ มองว่า เทคโนโลยีเป็นธุรกิจที่มีความอ่อนไหวมากเป็นพิเศษสำหรับซีอีโอที่จะทำหน้าที่กาวใจระหว่างสหรัฐกับจีน เพราะทั้ง 2 ประเทศล้วนมีความปรารถนาเชิงยุทธศาสตร์ที่จะแยกออกจากกันหรือตัดความสัมพันธ์ (decouple) ทางเศรษฐกิจกันในระยะยาว แต่ในช่วงนี้ที่การเจรจาและการทำข้อตกลงยังคงกลับไปกลับมา ก็อาจมีพื้นที่ให้บริษัทเทคเข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้.-814.-สำนักข่าวไทย