ฮ่องกง 13 พ.ค.- ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยไซเบอร์พบวิธียับยั้งมัลแวร์เรียกค่าไถ่ที่ระบาดในหลายประเทศทั่วโลกเมื่อวานนี้ แต่เป็นการยับยั้งได้ชั่วคราว ขอให้ผู้ใช้คอมพิวเตอร์เร่งอัพเดตระบบโดยเร็วที่สุด
ผู้เชี่ยวชาญที่ใช้ชื่อบัญชีทวิตเตอร์ว่า @MalwareTechBlog เผยว่า เป็นการพบโดยบังเอิญหลังจากที่ได้จดทะเบียนชื่อโดเมนที่มัลแวร์ใช้อยู่ เพราะปกติแล้วมัลแวร์จะใช้ชื่อโดเมนที่ไม่ได้จดทะเบียน ปรากฏว่าสามารถยับยั้งไม่ให้มันแพร่ระบาดต่อ อย่างไรก็ดี ปัญหายังไม่จบสิ้นเพราะแฮกเกอร์จะเปลี่ยนรหัสและหาทางเจาะระบบต่อไป ผู้ใช้คอมพิวเตอร์จึงต้องเร่งปรับปรุงระบบให้ทันสมัยโดยเร็วที่สุดเท่าที่สามารถทำได้ ส่วนคอมพิวเตอร์ที่ถูกโจมตีไปแล้ว วิธีนี้ไม่สามารถช่วยได้
มัลแวร์ดังกล่าวมีชื่อว่า WCry หรือ WannaCry จะเข้ารหัสไฟล์ของผู้ใช้เพื่อเรียกค่าไถ่เป็นบิทคอยน์ ซึ่งเป็นสกุลเงินเสมือนจริงสกุลหนึ่ง มีคอมพิวเตอร์ของหน่วยงานทั่วโลกติดมัลแวร์ตัวนี้ แคสเปอร์สกีแล็บ บริษัทซอฟท์แวร์ความปลอดภัยคอมพิวเตอร์ของรัสเซียเผยว่า จนถึงช่วงเย็นวานนี้พบการโจมตี 45,000 รายใน 74 ประเทศ เชื่อว่าแฮกเกอร์ใช้มัลแวร์ที่กลุ่มแชโดว์โบรกเกอร์เผยแพร่เมื่อเดือนก่อน โดยอ้างว่ามาจากข้อบกพร่องของรหัสที่สำนักความมั่นคงแห่งชาติ (เอ็นเอสเอ) ของสหรัฐพัฒนาขึ้นมา ขณะที่อวาสท์ ซอฟท์แวร์ บริษัทซอฟท์แวร์ความปลอดภัยคอมพิวเตอร์ในสาธารณรัฐเช็กตรวจพบการแฮก 57,000 ราย ใน 99 ประเทศ
สำนักงานบริการสาธารณสุขอังกฤษต้องประกาศว่าเกิดเหตุใหญ่และยกเลิกบริการหลายอย่างเนื่องจากไฟล์ในคอมพิวเตอร์ถูกเข้ารหัส หน้าจอปรากฏข้อความเรียกเงินค่าไถ่เป็นบิทคอยน์มูลค่า 300 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 10,400 บาท) กำหนดให้ต้องจ่ายภายใน 3 วัน เลยจากนั้นค่าไถ่จะเพิ่มขึ้นเท่าตัว และหากไม่จ่ายภายใน 7 วันไฟล์จะถูกลบทิ้ง.-สำนักข่าวไทย