กรุงเทพฯ 2 ส.ค. – เตรียมรื้อ 4 คานที่เหลือบนสะพานกลับรถช่วงที่พังถล่มลงมา ให้ประชาชนมั่นใจก่อนเปิดทางตามปกติ ก่อนประเมินอีกครั้งว่าจะซ่อมหรือสร้างใหม่ ด้าน วสท.เผยสาเหตุเบื้องต้นที่เป็นไปได้คือการจัดลำดับงานเข้าปรับปรุงรื้อพื้นสะพานออกก่อนทำให้การยึดโยงกับคาน และเสียสมดุลทำคานตัวริมและแบริเออร์ร่วง
ดร.ธเนศ วีระศิริ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ลงพื้นที่จุดเกิดเหตุสะพานกลับรถหรือจุดยูเทิร์นเกือกม้าบนถนนพระราม 2 กิโลเมตรที่ 34 บริเวณใกล้โรงพยาบาลวิภาราม จ.สมุทรสาคร ที่เกิดเหตุพังถล่มลงมาระหว่างซ่อมแซม เมื่อวันที่ 31 ก.ค.ที่ผ่านมา เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย โดยเป็นการลงพื้นที่หลังจากการไปประชุมร่วมกับกรมทางหลวงสมุทรสาคร โดยเปิดเผยว่าข้อสรุปเบื้องต้นวันนี้กรมทางหลวงจะรื้อคานที่เหลือ 4 คานออกทั้งหมด และส่วนด้านบนของสะพานที่เสียหาย เพื่อให้ประชาชนมีความมั่นใจว่าจะไม่เกิดเหตุซ้ำ หรือมีอะไรร่วงลงมาอีก ก่อนจะเปิดใช้งานถนนในบริเวณที่เกิดเหตุได้ คาดไม่เกินพรุ่งนี้จะรื้อแล้วเสร็จ ส่วนการซ่อมแซมสะพานให้กลับมาใช้ได้ดังเดิม ต้องหารืออีกครั้งว่าจะซ่อมสร้างใหม่เฉพาะจุดที่เกิดเหตุ หรือสร้างสะพานกลับรถใหม่ทั้งหมด โดยจะยึดเรื่องความปลอดภัยของผู้ใช้ทางเป็นอันดับแรก
นายกวิศวกรรมสถานฯ เปิดเผยอีกว่าจากการตรวจสอบโครงสร้างสะพานพบสาเหตุที่น่าจะเป็นไปได้เบื้องต้นของเหตุการณ์นี้คือเจ้าหน้าที่ได้ปรับปรุงพื้นสะพาน โดยสกัดพื้นเดิมออก โดยตามหลักทางวิศวกรรมพื้นคอนกรีตวางบนคานหลัก 5 คาน และมีคานเสริมความแข็งแรงช่วงกลางคาน หรือ Diaphragm ซึ่งตามหลักการซ่อมแซมต้องรื้อคานก่อน แต่จากเหตุการณ์นี้พบว่ามีการสกัดรื้อพื้นออกก่อน ทำให้น้ำหนักโดยรวมไม่มีความสมดุลจากการยึดโยงระหว่าง คานหลัก ,ไดอะแฟม และตัวแบริเออร์ จนร่วงลงมา เพราะการซ่อมแซมผิวทางบนสะพาน คานที่ขนานกันจะมีตัวยึดเพื่อทำให้ไม่ล้ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งคานตัวริม แต่หากในกรณีที่รื้อพื้นแล้วอาจมีการกระทบกับตัวคานยึด ผลก็จะทำให้เกิดการไร้เสถียรภาพแล้วก็ตกลงมา
ส่วนประเด็นที่ระบุว่าจากเหตุรถไฟไหม้บนสะพานจะเป็นหนึ่งในสาเหตุร่วมหรือไม่ จะต้องตรวจสอบความแข็งแรงของเหล็กเส้น โครงสร้างอย่างละเอียกอีกครั้ง ส่วนเรื่องอายุการใช้งานที่สร้างใช้มานานกว่า 30 ปีนั้นจริง ๆ แล้ว ตามอายุโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ยังถือว่ายังใช้งานได้อย่างแข็งแรงซึ่งตามหลักการจะมีการซ่อมบำรุงรักษาตามรอบ แต่อย่างไรก็ตามบนเส้นพระราม 2 เป็นเส้นทางหลักมีรถสัญจรไปมาจำนวนมาก และมีรถบรรทุกวิ่งทั้งวัน อาจทำให้เสื่อมสภาพได้เร็วขึ้น จึงต้องมีการตรวจสอบซ่อมบำรุงสม่ำเสมอ โดย วสท. และสภาวิศกร ก็ได้เข้ามาเป็นตัวกลางและร่วมตรวจสอบความปลอดภัย ไม่เฉพาะจุดนี้เท่านั้น เบื้องต้นทางกรมทางหลวงได้ประสานให้ร่วมตรวจสอบสะพานกลับรถที่เป็นรูปแบบคานคอนกรีตตัวไอ (I Girder) เฉพาะบนถนนพระราม 2 จนถึงแยกวังมะนาว มีจำนวน 16 จุด ส่วนทั่วประเทศก็มีมากกว่า 160 จุด ซึ่งจากนี้หากจะเข้าไปปรับปรุงซ่อมแซม จะต้องเข้มงวดตามลำดับหลักการวิศวกรรม และการเข้าซ่อมแซมในถนนหรือสะพานนับจากนี้จะต้องปิดพื้นที่ ระบุโซนก่อสร้าง กำหนดรัศมีก่อสร้างให้ชัดเจน และหากเป็นการปรับปรุงสะพานหรืออะไรก็ตามที่จะมีโอกาสวัตถุใด ๆ ร่วงหล่นลงมา ต้องไม่ให้ประชาชนสัญจรผ่าน
ในจุดที่เกิดเหตุเป็นโครงการปิดซ่อมแซมพื้นสะพานกลับรถทางหลวงหมายเลข 35 ที่ กม.34 ของกรมทางหลวง ที่ดำเนินการโดยศูนย์สร้างและบูรณะสะพานที่ 3 (ปทุมธานี) เนื่องจากสะพานนี้สร้างมาตั้งแต่ปี 2536 มีอายุใช้ยาวนานและที่จุดบนสะพานกลับรถในช่วงตอม่อที่ 11-13 บริเวณเดียวกันกับที่คอนกรีตถล่มลงมานั้น เมื่อปี 2547 เกิดเหตุรถน้ำมันไฟไหม้ มีข้อมูลว่าชาวบ้านสมุทรสาครมีความกังวลถึงความปลอดภัยของสะพานดังกล่าวมาเป็นระยะ ๆ และได้แจ้งร้องเรียนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กระทั่งมาถึงกำหนดการซ่อมครั้งนี้ ทล.ได้แจ้งปิดซ่อมปรับปรุงพื้นผิวสะพาน 23 มิ.ย-31 ส.ค.65. -สำนักข่าวไทย