อสมท 2 มิ.ย. – ผอ.มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ชี้คดีดัง “เดปป์” ชนะคดี ฟ้อง “แอมเบอร์ เฮิร์ด” หมิ่นประมาท สะท้อนความรุนแรงในครอบครัว สังคมตะวันตก ที่พบผู้หญิงเป็นฝ่ายกระทำมากขึ้น แต่ในสังคมไทยยังพบน้อยมาก เพราะยังติดอยู่ในวิถีสังคมชายเป็นใหญ่ พร้อมเสนอ 4 ทางออก ยุติความรุนแรงในครอบครัว
กรณี จอห์นนี เดปป์ นักแสดงรุ่นใหญ่ ฟ้องเรียกค่าเสียหายจาก แอมเบอร์ เฮิร์ด อดีตภรรยาในข้อหาหมิ่นประมาท เมื่อปี 2562 จากกรณีที่เธอเผยแพร่บทความผ่านวอชิงตันโพสต์ ระบุว่าเธอเป็นตัวแทนสังคมในเรื่องการถูกใช้ความรุนแรงในครอบครัวเมื่อปี 2561 สื่อถึงเดปป์อย่างชัดเจน ซึ่งล่าสุดคณะลูกขุนศาลเมืองแฟร์แฟกซ์ รัฐเวอร์จิเนีย ได้มีคำตัดสินให้เดปป์ชนะคดี โดยระบุว่า เฮิร์ด ทำให้ เดปป์ เสียชื่อเสียง และให้จ่ายค่าเสียหายทั้งสิ้น 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 500 ล้านบาท
จากคดีนี้ที่เป็นข่าวดังไปทั่วโลก ในมุมของ นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผอ.มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล มองว่า ความรุนแรงในครอบครัว ที่เกิดจากผู้หญิงเป็นฝ่ายกระทำสามี ปัจจุบันเริ่มมีให้เห็นมากขึ้นในสังคมตะวันตก เพราะให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมทางเพศ ผู้หญิงสามารถกำหนดชีวิตของตัวเองได้ ไม่ได้คิดว่าผู้ชายมีอำนาจเหนือกว่า ฉะนั้นการใช้ชีวิต การดูแลครอบครัว เลี้ยงลูก หรือแม้กระทั่งการทำงานบ้าน ล้วนเป็นเรื่องที่ทั้งสามีและภรรยาต้องช่วยกัน แต่ในสังคมไทย ส่วนใหญ่ยังอยู่ในวิถีของสังคมชายเป็นใหญ่ การดูแลครอบครัว เลี้ยงลูก และทำงานบ้าน ยังคงเป็นหน้าที่ของผู้หญิง จึงยังไม่ค่อยพบตัวเลขของผู้หญิงเป็นฝ่ายกระทำความรุนแรงกับสามี
ทั้งนี้จากข้อมูลของมูลนิธิฯ พบว่าสาเหตุความรุนแรงในครอบครัว หลักๆ มาจาก 4 เรื่อง คือ ความหึงหวง ไม่รับผิดชอบต่อครอบครัว การดื่มเหล้า เล่นการพนัน และพบด้วยว่า โควิด และปัญหาเศรษฐกิจ ก็ส่งผลให้เกิดความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มขึ้น
ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวในช่วงโควิด-19 ที่ทางมูลนิธิ เพิ่งสำรวจเมื่อปลายปี 64 พบว่า มีการใช้ความรุนแรงเพิ่มขึ้นกว่าสถานการณ์ปกติถึงร้อยละ 41.5 ส่วนใหญ่ใช้ความรุนแรงทางวาจา (การพูดส่อเสียด ดูถูก ด่าทอ) ร้อยละ 53.1 รองลงมา คือ ห่างเหิน มึนตึง ไม่รับผิดชอบต่อครอบครัว ร้อยละ 35.0 ทำให้รู้สึกอับอาย ประจานกันผ่านสังคมออนไลน์ ร้อยละ 22.6 ทำร้ายร่ายกาย ร้อยละ 20.2 นอกใจ คบชู้ ร้อยละ 18.9 และยังพบว่าผู้กระทำ ทำขณะเมาเหล้าหรือขณะแฮงค์ ร้อยละ 31.4
สำหรับกลไกที่จะช่วยแก้ปัญหา หรือยุติความรุนแรงในครอบครัวได้ นายจะเด็จ บอกว่า ต้องมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เพราะปัจจุบันตำรวจมักไม่ค่อยรับแจ้งความ เพราะยังมองว่าเป็นเรื่องของสามีภรรยา ผู้หญิงจึงต้องจำยอมและอดทน ต้องมีระบบเฝ้าระวังในชุมชน โดยมีอาสาสมัครในชุมชน คอยช่วยดูแล รับแจ้ง และให้การช่วยเหลือได้ทันที หากมีความรุนแรงในครอบครัวเกิดขึ้น ควรมีการบ่มเพาะแบบใหม่ปรับเปลี่ยนบทบาทของฝ่ายชาย ที่จะต้องช่วยแบ่งเบาภาระฝ่ายหญิง ช่วยกันดูแลครอบครัว เลี้ยงลูก หรือทำงานบ้าน เนื่องจากฝ่ายหญิงก็เหนื่อยและต้องออกไปทำงานนอกบ้านเช่นกัน และยังเสนอให้มีหลักสูตรการสอนที่ปรับเปลี่ยนทัศนคติเรื่องเพศวิถีอย่างถูกต้องตั้งแต่วัยเด็ก ทั้งนี้ยังย้ำอีกว่า ไม่ว่าฝ่ายใด หรือเพศไหน เป็นฝ่ายกระทำความรุนแรง ก็ต้องได้รับโทษเหมือนกัน เพราะกฎหมายให้ความคุ้มครองทั้งหญิงและชาย .-สำนักข่าวไทย