ญี่ปุ่น 26 พ.ค.- นายกฯ ปาฐกถาเวที Nikkei Forum ครั้งที่ 27 ย้ำเอเชียต้องยืดหยุ่น ปรับตัว สนับสนุนความยั่งยืน สร้างสังคมครอบคลุม พร้อมเชิญชวนภาคเอกชนร่วมฟื้นเศรษฐกิจ
“สุธิดา ปล้องพุดซา” ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวไทย ติดตาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมคณะ เยือนประเทศญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 26-27 พฤษภาคม 2565 รายงานว่า นายกรัฐมนตรีกล่าวปาฐกถาระหว่างเข้าร่วมประชุม International Conference on the Future of Asia (Nikkei Forum) ครั้งที่ 27 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ตามคำเชิญของบริษัท Nikkei โดยมีหัวข้อหลักคือ Redefining Asia’s role in a divided world หรือการทบทวนบทบาทของเอเชียในโลกที่แบ่งฝ่าย
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รู้สีกยินดีที่ได้เข้าร่วมการประชุมนานาชาติ Future of Asia อีกครั้งหนึ่งในปีนี้ ตามคำเชิญของ Nikkei พร้อมขอบคุณสำหรับการต้อนรับที่อบอุ่น สำหรับเหตุผลที่ตั้งใจร่วมการประชุม 4 เหตุผลหลัก คือ 1.ไทยเชื่อว่าญี่ปุ่นเป็นมิตรแท้ของไทยเสมอมา การที่นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเยือนไทยและประเทศในอาเซียนเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา เป็นการส่งสัญญาณเชิงบวกต่อเนื่องทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นโอกาสเฉลิมฉลองความสัมพันธ์และมิตรภาพกว่า 135 ปีระหว่างไทย-ญี่ปุ่น
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า 2.ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดระหว่างไทย-ญี่ปุ่น ซึ่งญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าที่มีความสำคัญอันดับ 2 ของไทย และมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่เหนียวแน่น นับตั้งแต่จัดทำความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย – ญี่ปุ่น หรือ JTEPA และความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP) ซึ่งในปี 2564 การค้าระหว่างกันมีมูลค่าสูงกว่าหกหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ลงทุนในไทยอันดับหนึ่งมาอย่างยาวนาน คิดเป็นเกือบร้อยละ 30 ของมูลค่าFDI ทั้งหมดของไทยในปีที่แล้ว
“จากที่ RCEP มีผลใช้บังคับเมื่อต้นปีที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นการเจริญเติบโตทางการค้าที่มหาศาลระหว่างประเทศสมาชิก ขอบคุณรัฐบาล นักธุรกิจและนักลงทุนญี่ปุ่นที่เชื่อมั่นศักยภาพ สนับสนุนการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งไทยยินดีต้อนรับการลงทุนจากญี่ปุ่น โดยเฉพาะในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ทั้งนี้ มีความเจริญเติบโตของ FDI จากไทยไปยังญี่ปุ่นในรอบทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งหวังว่าจะเพิ่มขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะการลงทุนในสาขาพลังงานทดแทน ซึ่งนายกรัฐมนตรี เชื่อว่าญี่ปุ่นจะให้การสนับสนุน และสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีแก่นักลงทุนไทย” นายกรัฐมนตรี กล่าว
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า 3.นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการที่ไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปค ซึ่งญี่ปุ่นเป็นสมาชิกที่แข็งขันในปีนี้ ซึ่งตรงกับที่กัมพูชาเป็นประธานอาเซียน และอินโดนีเซียเป็นประธาน G20 ประเทศสมาชิกอาเซียน 3 ประเทศมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกับหุ้นส่วนเพื่อส่งเสริมจิตวิญญาณของความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เสริมสร้างความเข้มแข็ง ความน่าเชื่อถือ และบทบาทของอาเซียนในการรักษาสันติภาพและเสถียรภาพของภูมิภาคและของโลกต่อไป
“ไทยในฐานะผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น พร้อมร่วมมือส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกันให้แน่นแฟ้น โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยเฉพาะในโอกาสการฉลองความสัมพันธ์ 50 ปีระหว่างอาเซียนกับญี่ปุ่นในปีหน้า และ 4.นายกรัฐมนตรี เชื่อว่า โลกกำลังเผชิญสถานการณ์ที่ท้าทาย การเข้าร่วมประชุมในเวทีแห่งนี้ทำให้ได้แบ่งปันมุมมองของไทยและรับฟังและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นที่มีประโยชน์กับทุกฝ่าย โดยเฉพาะภาคเอกชน” นายกรัฐมนตรี กล่าว
ส่วนเอเชียจะมีบทบาทอย่างไรได้บ้างเมื่อช่องว่างขยายกว้างขึ้นเรื่อย ๆ ในทุกมิติ เอเชียจะมีส่วนสร้างสันติภาพ ความมั่นคง และความมั่งคั่งทุกด้านได้อย่างไร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เอเชียจะต้องยืดหยุ่นต่อการปรับตัว เอเชียจะต้องสนับสนุนความยั่งยืน สร้างสังคมที่ครอบคลุม หากไม่มีความยั่งยืน โดยเฉพาะในบริบทปัจจุบันที่การเติบโตเปราะบางมาก เชื่อมั่นว่าการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจต้องเดินหน้าควบคู่ไปกับการสร้างความสมดุลของสรรพสิ่งและก้าวไปสู่ความยั่งยืน
นายกรัฐมนตรีได้แบ่งปันมุมมองของไทย 3 สิ่งที่เชื่อว่าเอเชียจะร่วมกันทำได้เพื่อก้าวข้ามสถานะปัจจุบัน มุ่งให้เกิดสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาค คือ 1. กระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ จะต้องทำให้ตลาดเปิดกว้างและครอบคลุมเศรษฐกิจที่ยั่งยืน โดยจะเกิดขึ้นต่อเมื่อมีภูมิต้านทานมากพอที่จะปรับตัวและรับมือกับความชะงักงันและความไม่แน่นอนอย่างทันท่วงที พร้อมกับมีห่วงโซ่อุปทานของภูมิภาคและของโลกที่มีความเข้มแข็ง ยืดหยุ่นและไม่ถูกตัดขาด จึงต้องสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคีที่มีกฎเกณฑ์เป็นพื้นฐาน โดยมี WTO เป็นแกนกลาง และต้องสร้างสภาพแวดล้อมการค้า และการลงทุนที่เสรี เป็นธรรม เปิดกว้าง ไม่เลือกปฏิบัติ โปร่งใส ครอบคลุม และคาดการณ์ได้
“ไทยมุ่งมั่นพัฒนาสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ เพื่ออำนวยความสะดวกการค้า และการลงทุน เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของไทยให้สูงขึ้นกว่าเดิม มีนวัตกรรม และเอื้ออำนวยแก่นักธุรกิจ และนักลงทุน ไทยมองว่าจำเป็นต้องเตรียมกำลังคนและโครงสร้างพื้นฐานรองรับภูมิทัศน์ทางการเงิน และเศรษฐกิจที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว ขณะนี้ไทยกำลังยกระดับและขยายระบบขนส่งทางรางและท่าอากาศยานทั่วประเทศ และกำลังพัฒนาโครงข่ายโทรคมนาคม โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงและการบริหารจัดเก็บข้อมูลในระบบคลาวด์ การส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ การสร้างบุคลากรดิจิทัลที่มีทักษะสูง ทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการจัดเก็บข้อมูลในระบบคลาวด์ที่น่าดึงดูดในภูมิภาค” นายกรัฐมนตรี กล่าว
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ต้องขอบคุณญี่ปุ่นสำหรับความร่วมมืออย่างใกล้ชิดและความช่วยเหลือที่ผ่านมา ไทยภูมิใจที่ระบบการธนาคารของไทยเป็นหนึ่งในระบบธนาคารที่ก้าวหน้า มีระบบพร้อมเพย์ สามารถโอนเงินผ่านแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือได้อย่างรวดเร็ว ไม่มีค่าใช้จ่าย
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไทยและสิงคโปร์ได้เชื่อมระบบชำระเงินดิจิทัลครั้งแรกของโลก และได้เชื่อมระบบในลักษณะเดียวกันกับญี่ปุ่น กัมพูชา มาเลเซีย และอินโดนีเซียแล้ว จึงหวังว่าจะสามารถเชื่อมต่อระบบกับประเทศอื่น ๆ เพิ่มเติม โดยเฉพาะในเอเปค 2. ต้องสนับสนุนระบบพหุภาคีต่อไป เพราะไม่มีประเทศใดจะสามารถรับมือและจัดการกับความท้าทายเหล่านี้ได้เพียงลำพัง ไทยเชื่อมั่นและพร้อมสนับสนุนแนวคิดพหุภาคีและขับเคลื่อนความร่วมมือระดับพหุภาคีต่อไปให้มากที่สุด เอเปคเป็นอีกเวทีหนึ่งที่ไทยจะสามารถแสดงการสนับสนุนระบบพหุภาคีได้ ในการจัดการประชุมเอเปค 2022 ไทยรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้ขับเคลื่อนงานของเอเปค ไม่ย่อท้อ
“ขอยืนยันถึงความมุ่งมั่นที่จะทำให้เอเปคยังคงเดินหน้าต่อ เพื่อให้เอเปคมีผลลัพธ์ที่มีความหมายและเป็นรูปธรรม เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนในเอเชีย-แปซิฟิกทุกคน สำหรับหัวข้อหลักของไทย คือ “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์” ซึ่งไทยผลักดันให้ทบทวนการหารือเรื่อง FTAAP โดยคำนึงถึงประเด็นการค้าและการลงทุนใหม่ ๆ เช่น เศรษฐกิจดิจิทัลและสิ่งแวดล้อม และหวังว่าจะต่อยอดงานการเปิดเสรีและการอำนวยความสะดวกการค้าและการลงทุน การลดอุปสรรคทางการค้าระหว่างกัน และการรวมตัวทางเศรษฐกิจ” นายกรัฐมนตรี กล่าว
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หัวข้อหลักที่ 2 “เชื่อมโยงกัน” ในทุกมิติ ไทยมุ่งจะเชื่อมโยงภูมิภาคเข้าด้วยกัน โดยได้จัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อหาแนวทางที่จะรื้อฟื้นการเดินทางข้ามพรมแดนอย่างปลอดภัย และไร้รอยต่อ การใช้ใบรับรองการฉีดวัคซีนร่วมกันได้ในเอเปค และการขยายขอบเขตการใช้บัตรเดินทางของนักธุรกิจในเอเปค เป็นต้น หัวข้อหลักที่ 3 “สู่สมดุล” ในทุกทาง ไทยผลักดันการส่งเสริมการเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุม โดยจุดมุ่งหมายประการหนึ่งที่สำคัญ คือการทำให้ SMEs ธุรกิจที่นำโดยสตรี และธุรกิจเล็ก ๆ ซึ่งล้วนเป็นพื้นฐานสำคัญของเศรษฐกิจ สามารถเข้าถึงตลาดและเงินทุนได้มากขึ้น เพื่อให้มีความสามารถในการแข่งขันและมีโอกาสที่จะเติบโต
“ไทยเสนอให้รับรองเอกสารระดับผู้นำ ชื่อว่า “เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG ” ซึ่งเป็นเอกสารที่จะวางรากฐานเอเปคด้านความยั่งยืนที่ครบถ้วนที่สุด ทั้งในด้านการปรับตัวและการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การส่งเสริมการค้าและการลงทุนที่ยั่งยืน และการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องอย่างมากกับนโยบายการเติบโตสีเขียวของญี่ปุ่น และผมขอขอบคุณญี่ปุ่นที่สนับสนุนวาระ BCG ของไทย” นายกรัฐมนตรี กล่าว
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า 3. สำคัญที่สุดคือการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจจะต้องเกิดควบคู่ไปกับความยั่งยืน จึงขอเชิญชวนภาคเอกชนมาร่วมมือกันเพื่อบรรลุเป้าหมาย หนทางไปสู่ความยั่งยืนของไทยที่กำลังเปลี่ยนผ่านทางพลังงานไปสู่พลังงานสะอาดเพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2065 โดยเริ่มกระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรม EV แล้ว และกำลังเร่งสร้างระบบนิเวศน์เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านดังกล่าว ขณะนี้ มีเรือ EV อัจฉริยะล่องอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อขนส่งผู้โดยสารทางน้ำเพื่อลดปริมาณคาร์บอนในระบบขนส่งมวลชนทางน้ำ ไทยหวังว่าจะเป็นหนึ่งในฐานการผลิต EV ที่ใหญ่ที่สุดในโลกในอนาคตอันใกล้ จึงหวังว่าจะได้ร่วมมือกับญี่ปุ่นในด้านนี้
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เอเชียเป็นภูมิภาคที่กว้างใหญ่ ไม่หยุดนิ่ง ยืดหยุ่นและเต็มไปด้วยทรัพยากรอีกทั้งมีศักยภาพอีกมาก ความเข้มแข็งของเอเชียคือความเป็นเอกภาพ การเติบโตไปด้วยกันโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เอเชียเป็นแผ่นดินแห่งความหวัง เป็นสถานที่แห่งโอกาส ไทยกำลังทำหน้าที่นี้อย่างเต็มที่ในทุกระดับ.-สำนักข่าวไทย