กรุงเทพฯ 8 มี.ค.- กบน.อัดเงินอุดหนุนดีเซลเพิ่มอีก 3.11 บาท เป็น 9.61 บาท/ลิตร กองทุนฯ วิกฤติ หวังรัฐนำงบฯ มาอุดหนุน หากยังใช้นโยบายดีเซลไม่เกิน 30 บาท นักวิชาการหนุนภาครัฐดูแลพลังงาน แนะไม่ควรขึ้นราคาแอลพีจี ด้าน กกพ.วอนร่วมประหยัดพลังงานลดผลกระทบแอลเอ็นจีราคาแพง
วิกฤติสถานการณ์สงครามรัสเซีย – ยูเครน ส่งผลต่อทั่วโลก พรุ่งนี้ (9 มี.ค.) จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานหารือ แผนรองรับวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้น จากปกติมีแผนอยู่แล้ว แต่ก็ต้องปรับแผนให้รอบคอบมีพลังงานเพียงพอในราคาที่ไม่สูง
รายงานข่าว จากกระทรวงพลังงานแจ้งว่าหนึ่งในแนวทางหารือรือคือจะแก้ไขกฎหมายกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ให้กู้ยืมเงินได้เพิ่มขึ้น จากขณะนี้แก้ไขไป 1 รอบ ให้กู้เกิน 2 หมื่น เป็น 3 หมื่นล้านบาท โดยจะแก้ในส่วนมาตรา 26 ให้กองทุนมีเงินอย่างมีประสิทธิภาพเมื่อรวมกับเงินกู้แล้วจะไม่จำกัดแค่ 4 หมื่นล้านบาท และกระทรวงฯจะขอหารือว่า เมื่อสถานการณ์ราคาเกินคาดหมายและถือว่าเป็นวิกฤติ เพราะขณะนี้ราคาดีเซลขึ้นเกิน 5 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ต่อสัปดาห์ นอกจากกู้เพิ่มแล้ว จะขอให้ภาครัฐนำงบกลางมาสนับสนุน) ตามมาตรา 6 (2) ที่รัฐบาลสามารถจัดสรรมาช่วยได้ในคราวฉุกเฉินและจำเป็น โดยขณะนี้เงินกองทุนเชื้อเพลิงก็ติดลบไปแล้วกว่า 2 หมื่นล้านบาท และไหลออกถึงกว่า 1.4 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ ที่ประชุมจะพิจารณาโครงสร้างราคาตลาดก๊าซธรรมชาติ (pool price) ที่เป็นสูตรคำนวณราคาก๊าซที่มาจากในประเทศเมียนมา และการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี)
มุมมองของนักวิชาการ อิสระ”พรายพล คุ้มทรัพย์” มองว่าเหตุการณ์ราคาพลังงานที่พุ่งแรงเพราะสงครามยูเครน-รัสเซีย ซึ่งอาจจะเกิดปัญหาใหญ่ระยะสั้นไม่เกิน 2 เดือน หลังจากนั้นจะเป็นวงขัดแย้งที่ลดลง ราคาพลังงานก็จะลดลง ดังนั้น ภาครัฐก็ควรจะเข้ามาช่วยเหลือ ทั้งไม่ควรขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม ดูแลดีเซลไม่เกิน 30 บาท และควรดูแลกลุ่มเบนซินด้วยการลดภาษี 3 บาท/ลิตร รวมทั้งควรเข้ามาดูแลค่าไฟฟ้า เพราะหากราคาพลังงานขยับขึ้นไปก็จะทำให้ต้านทุนอื่นๆ ปรับตาม กระทบต่อค่าครองชีพประชาชน
วิกฤติรอบนี้ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบแตะ 130 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จากสถิติน้ำมันดิบตลาดโลกเคยสูงสุดปี 2551 ที่ 147 เหรียญต่อบาร์เรล ช่วงนั้นราคาดีเซลสิงคโปร์พุ่งสูงถึง 183 เหรียญ วานนี้ (7 มี.ค.) ราคาดีเซลแตะ 158 เหรียญ/บาร์เรลแล้ว คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ที่มี รมว.พลังงาน จึงประชุมต่อเนื่อง วันนี้ (8 มี.ค.) กบน.ประชุมและมีมติอุดหนุนดีเซลเพิ่มเติม จากอุดหนุนแล้ว 6.50 บาท/ลิตร เป็น 9.61 บาทต่อลิตร เพื่อรักษาระดับราคาน้ำมันของปั๊มที่ภาครัฐถือหุ้นคือ บางจากฯ และพีทีทีสเตชั่น ตรึงราคาดีเซลไม่เกิน 30 บาท ส่วนก๊าซหุงต้มนั้นอุดหนุนต่อเนื่องเป็น 18 บาทต่อ กก.จากราคาขาย 21.2 บาท/กก. หรือ 318 บาท/ถังขนาด 15 กก.
ในขณะที่ก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นปัจจัยหลักของการผลิตไฟฟ้าของไทยมีสัดส่วนร้อยละ 70 ก็พุ่งขึ้น ปีนี้ไทยต้องนำเข้าแอลเอ็นจีหรือก๊าซธรรมชาตเหลวเข้ามามีสัดส่วน ร้อยละ 30 ของการผลิตไฟฟ้า หรือ 4.5 ล้านตัน ซึ่งมาจากปัจจัยก๊าซฯในอ่าวลดลง และผลพวงความผิดพลาดช่วงรอยต่อการหมดอายุสัมปทานปิโตรเลียมแหล่งเอราวัณ ทำให้ปริมาณก๊าซผลิตได้ผิดแผน จากเดิมคาดว่าจะผลิตได้ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แต่ผลิตได้ราว 500 ล้านลูกบาศก์/วัน ก๊าซฯหายไปราว 300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ทำให้ไทยต้องนำเข้าแอลเอ็นจีตลาดจร (SPOT) เพิ่มขึ้น จากเดิม 1.74 ล้านตันเป็น 4.5 ล้านตัน ซึ่งจากราคาตลาดพุ่งพรวดจากปกติแอลเอ็นจีอยู่ประมาณ 5-7 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู แล้วพุ่งเป็น 84 เหรียญต่อล้านบีทียู ก็ยิ่งทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าไทย สูงขึ้น
จึงเป็นที่มาที่ มาที่ ครม. 8 มี.ค.65 เห็นชอบให้ลดการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตเป็นอัตราศูนย์สำหรับการนำเข้าดีเซลและน้ำมันเตาไปผลิตกระแสไฟฟ้า จากเดิมอัตราอยู่ที่ 3.44 บาทต่อลิตร และ 0.64 บาทต่อลิตร ตามลำดับ ให้มีผลหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษาถึงวันที่ 15 กันยายน 2565 รวมระยะเวลาประมาณ 6 เดือน ซึ่งคาดว่าจะเป็นช่วงเวลาที่สถานการณ์ราคาก๊าซธรรมชาติในตลาดโลกจะปรับตัวลง ช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้าลดลง นอกจากนี้ ครม. ยังเห็นชอบให้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กู้เสริมสภาพคล่องในปี 2565-2567 จำนวน 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นเงินที่ กฟผ.มาช่วยแบกรับค่าไฟฟ้า อัตโนมัติ (fT )เงินกู้ดังกล่าวกระทรวงการคลังไม่ค้ำประกัน
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ.กล่าวว่ากกพ.มอนิเตอร์ค่าไฟฟ้า โดยต้องยอมรับว่าต้นทุนเพิ่มขึ้นจากการคาดการณ์เดิมว่าจะขึ้น งวดละ 16 สตางค์ต่อหน่วย ในขณะนี้บริหารงานทุกด้านนำเชื้อเพลิงที่ถูกกว่าก๊าซฯมาผลิตไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันเตา น้ำมันดีเซล การพึ่งพาพลังงานทดแทนในประเทศ เช่นชีวมวลทั้งการรับซื้อรายเดิม และรายใหม่ รวมทั้งรับซื้อจากโซลาร์รูฟท็อป โดยจะเสนออัตรารับซื้อต่อ กพช.วันพรุ่งนี้ แต่สิ่งสำคัญที่ต้องขอความร่วมมือประชาชน คือ ร่วมมือประหยัดไฟฟ้า เพราะหากประหยัดได้นั่นหมายถึงลดการนำเข้าแอลเอ็นจี และต้นทุนค่าไฟฟ้าก็จะต่ำลง
ทั้งนี้ราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นล่าสุดเป็นผลจากหลังสหรัฐและยุโรปพิจารณาสั่ง ห้ามการนำาเข้านำมันจากรัสเซีย นักวิเคราะห์คาด หากรัสเซียส่งออกไม่ได้ โลกจะขาดแคลนถึง 5 ล้านบาร์เรลต่อวันราคาน้ำมันจะพุ่งสูงถึง200เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลได้ ขณะที่รัสเซียประเมินว่าจะพุ่งไปถึง 300 เหรียญต่อบาร์เรล รัสเซียเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่คิดเป็น 7% ของอุปทานทั่วโลก อย่างไรก็ดี หลายประเทศในยุโรปมีท่าทีไม่เห็นด้วยกับมาตรการดังกล่าว โดยเฉพาะเยอรมนี และเพื่อเพิ่มซัพพลายด์น้ำมันดิบแก่โลกเราจึงเห็นแผนการนำน้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์หรือ เอสพีอาร์ของหลายประเทศนำออกมามาใช้ และสหรัฐกำลังจะผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรทั้งอิหร่านและเวเนซุเอลา .-สำนักข่าวไทย