กรุงเทพฯ 15 ก.พ.- วันนี้ (15 ก.พ.) เป็นวันแรกที่ข้อกำหนดประกันชีวิตจะให้การชดเชยค่ารักษาและค่าชดเชยรายวัน สำหรับผู้เอาประกันที่ป่วยเป็นโควิด-19 ก็ต่อเมื่อมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ข้อใดข้อหนึ่งภายใน 5 ข้อ มีอะไรบ้าง?
สมาคมประกันชีวิตไทย ระบุว่าผู้ป่วยโควิด-19 ที่จะเป็น “ผู้ป่วยใน” ต้องมีความจำเป็นทางการแพทย์และมาตรฐานทางการแพทย์ ตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข “ข้อใดข้อหนึ่ง” ดังนี้
1.เมื่อมีอาการไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียส ระยะเวลานานกว่า 24 ชั่วโมง
2.หายใจเร็วกว่า 25 ครั้ง ต่อนาทีในผู้ใหญ่
3.Oxygen Saturation < 94%
4.โรคประจำตัวที่มีการเปลี่ยนแปลง หรือจำเป็นต้องติดตามอาการอย่างใกล้ชิดตามดุลยพินิจของแพทย์
5.สำหรับในเด็ก หากมีอาการหายใจลำบาก ซึมลง ดื่มนมหรือทานอาหารน้อยลง
สำหรับการเรียกร้องผลประโยชน์ค่าชดเชยรายวันจากการนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล (Hospital Benefit : HB) ตามเงื่อนไขสัญญา ภาคธุรกิจประกันชีวิตจะจ่ายผลประโยชน์ค่าชดเชยรายวัน จากการนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลให้แก่ผู้เอาประกันภัยที่เข้ารักษาตัวเป็นผู้ป่วยใน ที่มีความจำเป็นทางการแพทย์ต้องเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาล เพื่อการรักษาพยาบาลการบาดเจ็บหรือการป่วยเท่านั้น ไม่ครอบคลุมการขาดรายได้จากการพักฟื้น หรือการกักตัว จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
สมาคมประกันชีวิตไทย ยกเหตุผลว่าในระยะเวลาอันใกล้ การติดเชื้อโควิด-19 จะกลายสภาพเป็นเหมือน “โรคประจำถิ่น” เช่นเดียวกับ โรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งกระบวนการดูแลรักษาจะเปลี่ยนแปลงไป ไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาเป็น “ผู้ป่วยใน” อีกต่อไป และผู้เข้ารับการรักษาใน Hospitel ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวที่ไม่มีอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อย ดังนั้น การรักษาใน Hospitel เป็นเพียงการแยกกักตัว (isolation) ซึ่งไม่ควรถือว่าเป็นการเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาล (admit) ตามนิยามเดิม.-สำนักข่าวไทย