สธ. 4 ก.พ.- กรมควบคุมโรค ชี้โอไมครอนติดเชื้อง่ายกว่าเดลตา หลังพบการติดเชื้อในครอบครัว เป็นโอไมครอน 40-50% เดลตา 10-20% จึงเป็นสาเหตุติดเชื้อเพิ่มขึ้น และอยู่ในขาขึ้น ส่วนยอดป่วยหนัก ใส่ท่อ และตายยังไม่เพิ่มสูง พยากรณ์เทรนด์โรคปี 65 โควิดคงที่ หากไม่กลายพันธุ์ หวัดใหญ่ และไข้เลือดออกพุ่งสูง
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 อยู่ในช่วงขาขึ้น และจะคงอยู่ระยะหนึ่งตัวเลขผู้ติดเชื้อถึงจะค่อยๆ ลดลง ตามหลักการระบาดวิทยา พร้อมชี้สาเหตุของการติดเชื้อ จากการติดเชื้อในครอบครัว เปรียบเทียบระหว่างเดลตากับโอไมครอน พบว่าเมื่อครั้งการติดเชื้อเดลตา โอกาสที่คนในครอบครัวจะติดเชื้อมี 10-20% แต่หากเป็นโอไมครอน จะมีการติดเชื้อ ถึง 40-50%. ทั้งนี้กลุ่มเสี่ยงของการติดเชื้อ ยังคงเป็นผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์ หากมีการติดเชื้อโอกาสเสียชีวิตมีถึง 100% ดังนั้นควรมารับวัคซีนเข็มกระตุ้น เพราะจะเห็นว่าการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น
อย่างไรก็ตาม แม้ขณะนี้ตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อจะเพิ่มขึ้น แต่อัตราตายไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นเท่ากับในอดีต เทรนด์ทั่วโลกขณะนี้ไม่ได้คำนึงถึงตัวเลขติดเชื้อที่เพิ่มมากขึ้น แต่ให้ความสนใจเรื่องของอัตราการป่วยหนัก ปอดอักเสบ การใส่ท่อช่วยหายใจ และการเสียชีวิต หากตัวเลขตรงนี้มีการเปลี่ยนไปก็แสดงถึง การควบคุมโรคว่าได้หรือไม่ โดยขณะนี้จำนวนป่วยหนักอยู่ที่ 500 คน จากเดิม 5,000 คน และจำนวนผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ 100 คนเศษ จากเดิม 1,300 คน และจำนวนผู้เสียชีวิต วันนี้ 22 คน จากเดิมสูงสุด 300 คน ถือว่าอยู่ในสถานการณ์ที่ควบคุมได้
นพ.โอภาส กล่าวว่า การติดเชื้อที่พบในขณะนี้มาจากคลัสเตอร์กลุ่มต่างๆ ทั้งจากการรับประทานอาหาร หรือการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กิจกรรม ทั้งงานศพ งานบวช ดังนั้นก็ขอให้ระมัดระวัง และเคร่งครัดหากสถานการณ์การติดเชื้อคงที่ ไม่มีสายพันธุ์ใหม่เข้ามา ก็เชื่อว่าในปีนี้มีโอกาสเป็นโรคประจำถิ่น ทุกกิจกรรมต้องทำอย่างสมดุล และอยู่ร่วมกันได้ อย่างระมัดระวัง พร้อมพยากรณ์โรคในปี 2565 ทั้งไข้เลือดออก ไข้หวัดใหญ่ มีแนวโน้มพบผู้ป่วยติดเชื้อมากขึ้น เพราะในอนาคตกลางปีคนอาจเลิกสวมหน้ากากอนามัย หากสถานการณ์โควิดดีขึ้น ทำให้ป่วยไข้หวัดใหญ่เพิ่มขึ้น ส่วนไข้เลือดออก ก็เป็นการระบาดปีเว้นปี และเมื่อมีการทำกิจกรรมมากขึ้นโอกาสป่วยติดเชื้อก็จะเพิ่มขึ้น ส่วนโควิดสถานการณ์ติดเชื้อกลางปี หากไม่มีการกลายพันธุ์เชื่อว่าน่าจะดีขึ้น .-สำนักข่าวไทย