กองปราบฯ 3 ก.พ.- กองปราบฯ ร่วม อย. แถลงตรวจค้นทลายโรงงานไส้กรอกเถื่อน เด็กในพื้นที่กินแล้วป่วยรุนแรง ยึดของกลางรวม 32 รายการ
เมื่อเวลา 11.30 น. วันนี้ (3 ก.พ.) ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แถลงผลการตรวจค้นโรงงานเถื่อน ในพื้นที่ จ.ชลบุรี ผลิตไส้กรอกมรณะ มีเด็กในหลายพื้นที่กินแล้วมีอาการเจ็บป่วยรุนแรง โดยตรวจยึดของกลางรวม 32 รายการ เช่น หมูยอ ลูกชิ้น ไส้กรอก ตราผลิตภัณฑ์ยี่ห้อต่างๆ มาตรวจสอบ มูลค่า 700,000 บาท
พ.ต.อ.เนติ วงษ์กุหลาบ ผกก.4 บก.ปคบ. เปิดเผยว่า การจับกุมดังกล่าวสืบเนื่องมาจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ประสานตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค หลังพบเด็ก 9 คน ในหลายพื้นที่ เช่น เชียงใหม่ 2 คน สระบุรี 1 คน กาญจนบุรี 1 คน เพชรบุรี 1 คน และตรัง 2 คน เข้าโรงพยาบาล เนื่องจากกินไส้กรอก และเกิดภาวะเมทฮีโมโกลบิน จึงทำการตรวจสอบ พบว่าแหล่งผลิตอยู่ในพื้นที่ จ.ชลบุรี ก่อนกระจายส่งต่อไปจำหน่ายในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ต่อมาวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ตำรวจจึงนำหมายศาลเข้าตรวจค้น พบหญิงสาวคนหนึ่งแสดงตัวเป็นเจ้าของกิจการ ซึ่งผลิตผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ต่างๆ เช่น ไส้กรอก ลูกชิ้น หมูยอ ส่งจำหน่าย ภายใต้ยี่ห้อของตัวเอง รวม 32 ยี่ห้อ เช่น ฤทธิ์ รสเด็ดไก่ยอ ไก่ยอจอมยุทธ ไก่ยอเศรษฐี ซึ่งมีการติดตราฮาลาล
จากการสอบสวนให้การรับว่า ทำการผลิตไส้กรอกลอตที่มีปัญหาจริง โดยนำไก่มาผสมผงปรุงรสหมู และผสมสารไนไตรท์ เพื่อยืดอายุอาหาร โดยไม่ได้มีการชั่งตวงตามมาตราฐาน ก่อนส่งจำหน่ายที่ตลาดนัดใน จ.ชลบุรี และตลาดมหาชัย ก่อนกระจายไปในพื้นที่ต่างๆ และผลิตโดยไม่ได้รับอนุญาต ฉลากไม่แสดงเลขสารรบบอาหาร และจากการตรวจสอบสถานที่ผลิตแห่งนี้ตามหลักเกณฑ์ GMP ที่กฎหมายกำหนด พบว่าไม่ผ่านเกณฑ์ และพบข้อบกพร่องหลายอย่าง เช่น ไม่มีการควบคุมการผลิตในกรณีที่มีการใช้วัตถุเจือปนอาหารอย่างเหมาะสม และขั้นตอนการผลิตไม่เข้าข่ายโรงงานตามกฏหมาย ซึ่งตำรวจขอให้แม่ค้าที่รับผลิตภัณฑ์อาหารจากโรงงานดังกล่าว ระงับการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้จะเร่งรวบรวมพยานหลักฐาน ประสานท้องที่เกิดเหตุทั้ง 5 จังหวัด ให้ประสานผู้จำหน่ายและผู้เสียหายมาแจ้งดำเนินคดีกับโรงงาน
เบื้องต้นดำเนินคดีกับเจ้าของโรงงาน ตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 ฝ่าฝืนมาตรา 6 (7) สถานที่ผลิตอาหารไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีผลิตที่ดี โทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท และฝ่าฝืนมาตรา 6 (10 ) ผลิตอาหารแสดงฉลากไม่ถูกต้อง โทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท
นอกจากนี้ยังมีการเก็บตัวอย่างอาหารเพื่อตรวจวิเคราะห์ และแจ้งดำเนินคดีภายหลัง หากพบสารต้องห้ามในอาหาร จะเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 25 ฐานผลิตอาหารไม่บริสุทธิ์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากเป็นอาหารปลอม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000-100,000 บาท
ด้าน นพ.วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ผลจากการตรวจสอบไส้กรอกเจ้าปัญหา พบสารไนไตรท์ ช่วยยืดอายุอาหาร จะทำให้มีสีสันออกโทนสีแดง ซึ่งตามกฏหมายอนุญาตให้ผสมในอาหารได้ไม่เกิน 80 มิลลิกรัม/กิโลกรัมอาหาร แต่ตัวไส้กรอกเจ้าปัญหา ตรวจพบสารไนไตรท์ถึงกว่า 2,300 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ทำให้เด็กที่กินเกิดภาวะอาการเหนื่อยง่าย ใจสั่น วิงเวียน ปลายมือปลายเท้าเขียว สุดท้ายก็จะหมดสติ และเสียชีวิตได้ หากบริโภคในปริมาณมากๆ พร้อมย้ำว่า ผู้ประกอบการที่เป็นตัวแทนจำหน่ายอาหารให้เลือกซื้อไส้กรอก หรือผลิตภัณฑ์อาหารจากสถานที่ผลิตอาหารที่ได้รับอนุญาตมาจำหน่าย เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค โดยสังเกตที่ฉลาก ระบุชื่ออาหารและที่ตั้งของผู้ผลิต วันเดือนปีที่ผลิต หรือวันหมดอายุ หรือควรบริโภคก่อน มีการแสดงส่วนประกอบและข้อมูลวัตถุเจือบนอาหาร น้ำหนักสุทธิ เลขสารบบอาหารในกรอบเครื่องหมาย อย. และผลิตภัณฑ์ที่มีการเก็บรักษาในอุณหภูมิที่เหมาะสม เพื่อคงคุณภาพของผลิตภัณฑ์ไว้ตลอดการจำหน่าย ส่วนผู้บริโภคหากไม่แน่ใจคุณภาพและความปลอดภัยของอาหาร หรือพบแหล่งผลิตหรือผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ได้มาตรฐาน หรืออาจไม่ปลอดภัยในการบริโภค ขอให้แจ้งเบาะแสหรือร้องเรียนมาที่สายด่วน อย. 1556.-สำนักข่าวไทย