กรุงเทพ 26 ม.ค. – องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล หรือ ดับเบิลยูดับเบิลยูเอฟ (WWF) เผยวันนี้ว่า ได้ค้นพบสิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์สายพันธุ์ใหม่ 224 ชนิดในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขงในปี 2563 ซึ่งรวมถึงจิ้งจกนิ้วยาวสายพันธุ์ใหม่ (rock gecko) ในประเทศไทย แม้สิ่งมีชีวิตเหล่านี้จะเผชิญกับภัยคุกคามรุนแรงต่อการสูญเสียที่อยู่อาศัยในพื้นที่ดังกล่าว
รายงานขององค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากลระบุว่า รายชื่อสิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์สายพันธุ์ใหม่ 224 ชนิดที่ได้รับการค้นพบในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขงเมื่อปี 2563 เช่น จิ้งจกนิ้วยาวสายพันธุ์ใหม่ในประเทศไทย ต้นหม่อนสายพันธุ์ต่าง ๆ ในเวียดนาม กบหัวโตในเวียดนามและกัมพูชาที่ถูกคุกคามจากปัญหาตัดไม้ทำลายป่า
รายงานดังกล่าวยังระบุว่า การค้นพบสิ่งมีชีวิตทั้ง 224 ชนิด สะท้อนให้เห็นถึงความหลากหลายทางชีวภาพที่อุดมสมบูรณ์ในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งมีพื้นที่ครอบคลุมประเทศไทย เมียนมา ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ทั้งยังเป็นข้อบ่งชี้ถึงการปรับตัวของธรรมชาติในการเอาชีวิตรอดในแหล่งที่อยู่ตามระบบนิเวศที่เสื่อมโทรมและถูกทำลาย
หัวหน้าฝ่ายสัตว์ป่าและอาชญากรรมต่อสัตว์ป่าขององค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล กล่าวว่า สิ่งมีชีวิตสายพันธุ์เหล่านี้เป็นผลิตผลจากความพิเศษและสวยงามจากการวิวัฒนาการหลายล้านปี แต่กลับต้องเผชิญกับภัยคุกคามที่เพิ่มมากขึ้นจนอาจทำให้มีหลายสายพันธุ์ที่ต้องสูญพันธุ์ก่อนได้รับการนำมาศึกษา ทั้งยังระบุเพิ่มเติมว่า พื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขงเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ใกล้สูญพันธุ์จำนวนมาก ซึ่งกำลังเผชิญกับความเสี่ยงต่อการทำลายแหล่งที่อยู่อาศัย โรคภัยที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมของมนุษย์ และการค้าสัตว์ป่าโดยผิดกฎหมาย.-สำนักข่าวไทย