กรุงเทพฯ 4 ต.ค. – อธิบดีกรมชลประทาน ระบุน้ำเหนือที่ไหลลงมา จ.นครสวรรค์ลดลงแล้ว แต่น้ำจากแม่น้ำสะแกกรัง จ. อุทัยธานีปริมาณมากไหลมาสมทบแม่น้ำเจ้าพระยาเหนือเขื่อนเจ้าพระยา ทำให้ระดับน้ำเจ้าพระยาจังหวัดท้ายเขื่อนยังสูง จึงใช้ทุกมาตรการระบายน้ำออกทะเล
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวถึงสถานการณ์ลุ่มน้ำเจ้าพระยาว่า ปริมาณน้ำในลำน้ำปิงที่ไหลลงมายัง จ. นครสวรรค์ลดลงแล้ว แต่ยังมีปริมาณน้ำจากแม่น้ำสะแกกรัง จ. อุทัยธานีไหลมาสมทบแม่น้ำเจ้าพระยาเหนือเขื่อนเจ้าพระยา จ. ชัยนาทมาสมทบกับแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งได้ตัดยอดน้ำ โดยผันน้ำเข้าคลองด้านฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา รวม 376 ล้าน ลบ.ม. เพื่อให้ปริมาณที่ระบายผ่านเขื่อนเจ้าพระยาลดลง ปัจจุบัน ระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในอัตรา 2,784 ลบ.ม./วินาที ส่งผลให้ปริมาณน้ำที่ไหลผ่านอ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยเฉลี่ยในอัตรา 3,052 ลบ.ม./วินาที จากศักยภาพสูงสุดที่รับได้ถึง 3,500 ลบ.ม./วินาที โดยจะควบคุมปริมาณน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยาและแม่น้ำป่าสักให้ไหลมาสู่ อ.บางไทร ไม่เกิน 3,200 ลบ.ม./วินาที ซึ่งยืนยันว่า ไม่ส่งผลกระทบกับกรุงเทพมหานครแน่นอน
สำหรับระดับน้ำในแม่น้ำป่าสักที่เพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากจำเป็นต้องระบายน้ำของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เพื่อลดปริมาณน้ำที่เกินระดับเก็บกัก โดยผันน้ำบางส่วนที่ระบายออกทางคลองระพีพัฒน์ ผ่านประตูระบายน้ำ (ปตร.) พระนารายณ์ ลงสู่คลองรังสิตประยูรศักดิ์ คลองบางขนาก และคลองพระองค์ไชยานุชิต ไหลลงแม่น้ำนครนายกและแม่น้ำบางปะกง แล้วออกอ่าวไทยที่จ. ฉะเชิงเทรา
ทั้งนี้ การผันน้ำดังกล่าวจะช่วยลดปริมาณน้ำผ่านเขื่อนพระรามหกไม่ให้เกินศักยภาพ เพื่อบรรเทาผลกระทบบริเวณอ.ท่าเรือ นครหลวง และพระนครศรีอยุธยา รวมทั้งลดปริมาณน้ำที่จะไหลผ่านอ.บางไทรอีกด้วย
นายประพิศกล่าวต่อว่า ขณะนี้ได้เริ่มผันน้ำเข้าทุ่งรับน้ำลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างทั้ง 10 ทุ่งแล้ว โดยเป็นการทยอยรับน้ำ ปัจจุบันรับน้ำเข้าทุ่งไปแล้วกว่า 878 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็นทุ่งฝั่งตะวันออก 387 ล้าน ลบ.ม.
ประกอบด้วยทุ่งเชียงราก 21 ล้าน ลบ.ม. ทุ่งท่าวุ้ง 90 ล้าน ลบ.ม. ทุ่งฝั่งซ้ายคลองชัยนาท-ป่าสัก 123 ล้าน ลบ.ม. ทุ่งบางกุ่ม 131 ล้าน ลบ.ม. ทุ่งบางกุ้ง 22 ล้าน ลบ.ม. ส่วนทุ่งฝั่งตะวันตกรับน้ำไปแล้ว 491 ล้าน ลบ.ม. ประกอบด้วย ทุ่งบางบาล-บ้านแพน 50 ล้าน ลบ.ม. ทุ่งป่าโมก 49 ล้าน ลบ.ม. ทุ่งผักไห่ 200 ล้าน ลบ.ม. ทุ่งเจ้าเจ็ด 45 ล้าน ลบ.ม. และ ทุ่งโพธิ์พระยา 147 ล้าน ลบ.ม. โดยยังเหลือพื้นที่ที่สามารถเก็บกักน้ำได้อีก 590 ล้าน ลบ.ม.
อีกมาตรการหนึ่งคือ การใช้โครงการประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ บริหารจัดการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างให้ไหลลงทะเลได้เร็วขึ้น ซึ่งถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยบรรเทาอุทกภัยในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลได้อย่างดี.- สำนักข่าวไทย