กรุงเทพฯ 8 ส.ค.-รัฐมนตรีแรงงานพอใจภาพรวมการจ่ายเงินเยียวยาผู้ประกันตน ม.33 ใน 10 จังหวัด 9 กิจการ เตรียมเสนอ ครม.อังคารนี้ขอกรอบเยียวยากลุ่มมาตรา 39 และมาตรา 40 คาดได้เงินชดเชย 5,000 บาท ไม่เกินวันที่ 24 ส.ค.นี้ พร้อมระบุผู้ได้รับเงินชดเชยจะไม่ถูกตัดสิทธิบัตรทองแน่นอน
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และกระทรวงแรงงานภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้เห็นความยากลำบากและมีความห่วงใยพี่น้องแรงงานและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงมีมาตรการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการ “ล็อกดาวน์” ในพื้นที่สีแดงเข้ม 13 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสงขลา เพิ่มเติม จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และพระนครศรีอยุธยา ครอบคลุม 9 ประเภทกิจการ นั้น ได้แก่ กิจการก่อสร้าง กิจการที่พักแรมบริการด้านอาหาร กิจกรรมศิลปะ ความบันเทิงและนันทนาการ กิจกรรมบริการด้านอื่น ๆ สาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า สาขาขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์ สาขากิจกรรมการบริหารและบริการสนับสนุน สาขากิจกรรมวิชาชีพ วิทยาศาสตร์และกิจกรรมทางวิชาการ และสาขาข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร นั้น
อย่างไรก็ตาม หากดูภาพรวมการจ่ายเงินเยียวยาผู้ประกันตนมาตรา 33 ใน 10 จังหวัด 9 กิจการ เป็นที่น่าพอใจ จากรายงานของประกันสังคมพบว่า โอนเงินแล้ว 2,227,900 ราย เป็นเงิน 5,569,750,000 บาท ซึ่งไม่มีอะไรติดขัด มีเพียงผู้ประกันตนประมาณ 200,000 รายที่ยังไม่ได้ผูกพร้อมเพย์กับบัตรประชาชน ซึ่งกำลังเร่งดำเนินการให้ผู้พร้อมเพย์กับบัตรประชาชนให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 9 สิงหาคมนี้ เพื่อที่จะเริ่มดำเนินการโอนเงินในวันที่ 13 สิงหาคมนี้ ส่วนในส่วนของ 3 จังหวัดเพิ่มเติม ได้แก่ ชลบุรี ฉะเชิงเทรา และพระนครศรีอยุธยา จะโอนเงินในวันที่ 9 สิงหาคมนี้ และอีก 16 จังหวัดที่เหลือคาดว่าจะได้นับเงินชดเชยได้ไม่เกิน 24 สิงหาคมนี้ โดยผู้ประกันตนสามารถตรวจสอบสิทธิได้ที่เว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม www.sso.go.th/eform_news/
“ตนได้รายงานภาพรวมการจ่ายเงินเยียวยาผู้ประกันตนมาตรา 33 ใน 10 จังหวัด ให้ท่านนายกรัฐมนตรีทราบแล้ว และท่านพอใจในภาพรวมที่สามารถบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่พี่น้องประชาชนได้ในระดับหนึ่ง รวมทั้งเป็นการแบ่งเบาภาระค่าครองชีพในครอบครัวให้ก้าวข้ามสถานการณ์โควิดไปให้ได้ ตามนโยบายของรัฐบาลโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”นายสุชาติ กล่าว
ทั้งนี้ในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 10 สิงหาคมยี้ กระทรวงแรงงานจะเสนอให้ที่ประชุมได้พิจารณากรอบวงเงินชดเชยเพิ่มเติมในกลุ่มมาตรา 39 และมาตรา 40 ใน 29 จังหวัดที่อยู่ในกลุ่มประกาศให้ล็อกดาวน์ เพื่อให้กลุ่มอาชีพอิสระในมาตราดังกล่าวได้รับเงินเยียวยาความเดือดร้อนคนละ 5,000 บาทไปดำรงชีพต่อไปได้ ซึ่งใน 2 กลุ่มมาตรานี้จะมีจำนวนคนได้รับความเดือนร้อนอยู่ประมาณ 3-4 ล้านคน คาดว่าเมื่อการที่ประชุม ครม แล้ว น่าจะโอนเงินเยียวยาได้ในวันที่ 24 สิงหาคมนี้ และภาครัฐเปิดโอกาสให้ผู้ที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนขอรับความช่วยเหลือใน 2 มาตราดังกล่าว ทางกระทรวงแรงงานเปิดโอกาสให้มาขึ้นทะเบียนโดยเร็ว และกลุ่มที่ขึ้นทะเบียนภายหลังคาดว่าจะได้รับเงินเยียวยาภายในต้นเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ ส่วนนายจ้างจะได้รับเงินชดเชยตามแนวทางช่วยเหลือของรัฐบาลที่จะเริ่มได้รับตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคมนี้เป็นต้นไป
อย่างไรก็ตาม กรอบวงเงินที่นำมาชดเชยในมาตราทั้ง 3 ดังกล่าวเป็นกรอบวงเงินกู้ของรัฐบาลที่กู้มาดำเนินการตรงนี้กว่า 50,000-60,000 ล้านบาท และกระทรวงแรงงานขอย้ำกลุ่มมาตรา 39 และ 40 แม้จะได้รับเงินชดเชยไปแล้ว กรณีที่ได้รับสิทธิรักษาบัตรทองอยู่จะไม่ถูกตัดสิทธิบัตรทองตามที่มีข่าวแพร่ระพัดอยู่ในขณะนี้แต่อย่างใด.-สำนักข่าวไทย