กรุงเทพฯ 22 ก.ค. – กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เตรียมปรับโครงสร้างหนี้ผู้กู้ยืม ปรับลำดับตัดชำระหนี้และปรับเงื่อนไขการผ่อนชำระ ส่วนผู้กู้ยืมที่อยู่ในระบบหักเงินเดือนสามารถขอปรับลดจำนวนเงินที่หักเหลือขั้นต่ำ 10 บาทต่อเดือน เพื่อช่วยเหลือผู้กู้ยืมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19
นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยว่า “คณะกรรมการกองทุนฯ ได้มีมติเห็นชอบแนวทางการปรับโครงสร้างหนี้ ปรับเปลี่ยนลำดับตัดชำระหนี้และเปลี่ยนเงื่อนไขการผ่อนชำระสำหรับผู้กู้ยืมกลุ่มก่อนฟ้องคดีเพื่อช่วยเหลือผู้กู้ยืมที่ค้างชำระและลดปัญหาหนี้ค้างชำระของกองทุนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ดังนี้
- ปรับโครงสร้างหนี้ สำหรับผู้กู้ยืมที่อยู่ระหว่างผ่อนชำระหนี้ที่ยังไม่ถูกฟ้องคดี หากไม่สามารถผ่อนชำระเงินคืนตามสัญญา กองทุนจะให้ผู้กู้ยืมทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้โดยขยายระยะเวลาผ่อน และเปลี่ยนเงื่อนไขเพื่อให้มีระยะเวลาในการผ่อนชำระมากขึ้น สามารถผ่อนได้สูงสุด 30 ปี แต่ในการชำระเงินงวดสุดท้ายผู้กู้ยืมต้องมีอายุไม่เกิน 65 ปีบริบูรณ์ และมีส่วนลดเบี้ยปรับโดยให้ชำระในงวดสุดท้าย ทั้งนี้ ผู้กู้ยืมสามารถแจ้งความประสงค์ขอปรับโครงสร้างหนี้ได้ที่แอปพลิเคชัน กยศ.Connect หรือทางเว็บไซต์ https://wsa.dsl.studentloan.or.th ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2564 เป็นต้นไป
- ปรับเปลี่ยนลำดับตัดชำระหนี้ สำหรับผู้กู้ยืมที่อยู่ระหว่างผ่อนชำระเงินคืนกองทุนที่ยังไม่ถูกฟ้องคดี จากเดิมที่ใช้วิธีการตัดเบี้ยปรับ ดอกเบี้ย และเงินต้น กองทุนจะปรับเปลี่ยนลำดับการตัดชำระหนี้ใหม่ โดยจะนำเงินที่ได้รับชำระไปตัดเงินต้น ดอกเบี้ย และเบี้ยปรับ
- ปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการผ่อนชำระเงินคืน สำหรับผู้กู้ยืมรายใหม่ และผู้กู้ยืมที่อยู่ระหว่างปลอดหนี้และยังไม่ครบกำหนดชำระหนี้ จากเดิมที่ผ่อนชำระเป็นรายปี กองทุนจะปรับให้ผ่อนชำระเป็นรายเดือนในอัตราเท่ากันทุกเดือน และเพิ่มระยะเวลาการผ่อนชำระจากเดิมไม่เกิน 15 ปี เป็นไม่เกิน 30 ปี ขึ้นอยู่กับยอดหนี้ของผู้กู้ยืมแต่ละราย ทั้งนี้ในการชำระเงินงวดสุดท้ายผู้กู้ยืมจะต้องมีอายุไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์
นอกจากนั้น กองทุนยังมีแนวทางแบ่งเบาภาระของผู้ที่ถูกหักเงินเดือน โดยสามารถขอปรับลดจำนวนเงินที่หักเหลือเพียง 10 บาทต่อเดือน มีผลตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2564 – มิถุนายน 2565 ทั้งนี้ ผู้กู้ยืมสามารถแจ้งความประสงค์ขอปรับจำนวนเงินดังกล่าวผ่านแอปพลิเคชัน กยศ.Connect แต่ยังคงมีหน้าที่ไปชำระส่วนต่างตามจำนวนเงินงวดที่ต้องชำระตามเงื่อนไขของสัญญา
ทั้งนี้ หากผู้กู้ยืมยังไม่สามารถชำระหนี้ได้ในสถานการณ์นี้ กองทุนได้ลดเบี้ยปรับให้เหลือเพียง 0.5% รวมทั้งชะลอการฟ้องคดี บังคับคดี ยกเว้นคดีที่จะขาดอายุความ และงดการขายทอดตลาดไว้จนถึงสิ้นปีนี้” ผู้จัดการกองทุนฯ กล่าวในที่สุด . – สำนักข่าวไทย