ทำเนียบรัฐบาล 16 ก.ค.-ที่ประชุม ศบค. ประเมินสถานการณ์หลังล็อกดาวน์ 10 จังหวัด สถานการณ์ติดเชื้อยังสูง เตรียมยกระดับปิดกิจการบางอย่างเพิ่ม พร้อมเคาะปรับสูตรวัคซีนได้ เตือนประชาชนอย่าซื้ออุปกรณ์ตรวจโควิดทางออนไลน์หรือร้านสะดวกซื้อ
พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงว่า ที่ประชุม ศปก.ศบค.วันนี้ (16 ก.ค.) ประเมินสถานการณ์หลังการประกาศล็อกดาวน์ พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดไปแล้ว 5 วัน พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือ แต่ยังพบการกระทำผิดคือออกนอกเคหสถานหลังเวลา 21.00 น. จำนวน 158 ราย และความผิดในลักษณะการรวมกลุ่มมั่วสุม 59 ราย ทำให้ได้ข้อสรุปว่าอาจจำเป็นต้องปรับมาตรการให้เข้มข้นขึ้น และอาจจำเป็นต้องปิดกิจการบางอย่างให้มากขึ้น ขอให้ประชาชนติดตามข่าวสารและประกาศที่จะออกมาต่อไป
“ที่ผ่านมาเราปิดในพื้นที่ 10 จังหวัด เพราะต้องการให้กระทบประชาชนน้อยที่สุด แต่เมื่อประเมิน 5 วัน พบว่าสถานการณ์ยังน่าห่วง ท่าน ผอ. ศบค.จึงให้ทบทวนและเสนอกลับมาเร่งด่วนว่าจะต้องมีมาตรการเข้มข้นขึ้นอย่างไร” ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าว
พญ.อภิสมัย กล่าวว่า จะตรวจหาเชื้อให้ครอบคลุมประชาชนให้มากที่สุด โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยง เมื่อตรวจแล้วผลเป็นบวก ขอให้ประชาชนไปติดต่อกับสาธารณสุขใกล้บ้าน จะมีเจ้าหน้าที่ดูแลประเมินอาการเบื้องต้น หากอาการอยู่ในระดับสีเขียวจะให้กักตัวอยู่ที่บ้าน หรือ home isolation แต่หากติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนจะจัดสถานที่พักคอยในชุมชน หรือ community isolation เพื่อลดการแพร่เชื้อในชุมชน ทั้งนี้ เพื่อสงวนเตียงให้กับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงในระดับสีเหลืองและสีแดง อย่างไรก็ตาม หากตรวจแล้วผลเป็นลบ แต่มีประวัติสัมผัสเสี่ยงสูงหรือเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยง จะต้องตรวจซ้ำในวันที่ 3 หรือวันที่ 5 หลังจากตรวจครั้งแรกไปแล้ว
“สำหรับอุปกรณ์ตรวจหาเชื้อ covid 19 เบื้องต้น (antigen test kit) ถือเป็นอุปกรณ์การแพทย์ ดังนั้น แนะนำให้ประชาชนไปตรวจเฉพาะโรงพยาบาล สถานพยาบาล หรือสามารถซื้ออุปกรณ์เหล่านี้ได้ที่ร้านขายยาที่มีเภสัชกรดูแลร้าน และให้คำแนะนำที่ถูกต้อง แต่ไม่อนุญาตให้ขายในร้านสะดวกซื้อ หรือซื้อผ่านออนไลน์ เพราะอุปกรณ์เหล่านี้จะต้องได้รับการตรวจมาตรฐาน” ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าว
พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ส่วนกรณีที่เป็นโรงงาน สถานประกอบการที่มีบุคลากรจำนวนมาก สนใจนำอุปกรณ์เหล่านี้ไปตรวจหาเชื้อในพนักงาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ชี้แจงว่าสถานประกอบการที่มีบุคลากรเกิน 50 คนขึ้นไป โดยกฎหมายจะมีสถานพยาบาล จึงเห็นว่าในส่วนของโรงงานน่าจะให้สถานพยาบาลของสถานประกอบการนั้นรับไปดำเนินการได้
ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าวว่า ส่วนผู้ป่วยที่เข้าสู่ระบบกับตัวเองที่บ้าน หรือ home isolation อธิบดีกรมการแพทย์ ระบุว่า ผู้ป่วยจะได้รับอุปกรณ์ให้วัดอุณหภูมิตรวจวัดออกซิเจน และมีเจ้าหน้าที่โทรศัพท์ไปพูดคุย ประเมินอาการ รวมทั้งจัดเครื่องอุปโภคบริโภค อาหาร ยาฟาวิพิราเวียร์ ฟ้าทะลายโจร และอุปกรณ์ที่มีความจำเป็น เพื่อให้การดูแลผู้ป่วยเป็นมาตรฐานและปลอดภัย ซึ่งจะเป็นผู้ป่วยที่มีอาการในระดับสีเขียว คือไม่แสดงอาการ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อย
พญ.อภิสมัย กล่าวว่า สำหรับ community isolation จะใช้ในกรณีติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนในชุมชนหรือโรงงาน หากมีพื้นที่แยกกักได้เองขนาดเล็กไม่เกิน 200 เตียง โดยส่วนของ กทม. จะมีศูนย์พักคอยรอการส่งต่อ 21 ศูนย์ รองรับผู้ป่วยได้ 2,950 เตียง อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมเน้นย้ำว่าก่อนส่งผู้ป่วยจะต้องตรวจหาเชื้อด้วยวิธี rt-pcr ก่อน และต้องจัดการสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม เช่น เรื่อง น้ำ และการจัดการขยะ และจะต้องได้รับการยอมรับจากชุมชน
“ที่ประชุมหารือเรื่องการฉีดวัคซีนกระตุ้นสำหรับผู้ที่ได้รับวัคซีนซิโนแวค ไปแล้ว 2 เข็ม ให้สามารถฉีดวัคซีน astrazeneca หรือวัคซีน mRNA เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ และผู้ที่ฉีดวัคซีนซิโนแวคเข็มแรกแล้ว สามารถใช้สูตรผสมเป็นวัคซีน astrazeneca เข็มที่ 2 ได้ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ศึกษาจากหลายหน่วยงาน พบว่าผลของการควบคุมโรคเป็นที่น่าพอใจ และองค์การอนามัยโลกให้การยอมรับ จึงเป็นข้อสรุปในที่ประชุมว่าสามารถใช้ได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การแถลงข่าวของ ศบค .วันนี้เลื่อนจากเวลา 12.30 น. เป็นเวลา 14.00 น. เพื่อรอผลการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในฐานะผู้อำนวยการ ศบค.เป็นประธานการประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ที่ตึกสันติไมตรีหลังนอก เพื่อประเมินสถานการณ์เนื่องจากผ่านไป 5 วันแล้ว แต่จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ยังเพิ่มสูงขึ้น
สำหรับผู้เข้าร่วมประชุม อาทิ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่ากรกระทรวงการต่างประเทศ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข
นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร อดีต รมว. สาธารณสุข และเป็นหัวหน้าทีมในการจัดหาวัคซีนทางเลือกให้เอกชน นพ.อุดมคชินทร นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา นพ.ยง ภู่วรวรรณ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และพญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ผู้บริหารด้านสาธารณสุข และ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.).-สำนักข่าวไทย