ปารีส 16 ก.ค.- ผลการวิจัยใหม่ที่เผยแพร่วันนี้ระบุว่า ผู้ติดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 อาการหนักที่ต้องนอนโรงพยาบาลเกิดภาวะแทรกซ้อนทุก 1 ใน 2 คน สะท้อนว่า ผู้ติดเชื้อจะเกิดผลกระทบทางสุขภาพทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
ผลการวิจัยที่เผยแพร่ในวารสารการแพทย์แลนเซ็ตได้จากการรวบรวมข้อมูลผู้ป่วยกว่า 70,000 คนที่นอนโรงพยาบาลในอังกฤษกว่า 300 โรงพบว่า ภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อยที่สุดเกิดขึ้นกับไตและปอด และมีรายงานภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาท ระบบหลอดเลือดและหัวใจมากเช่นกัน แม้แต่ผู้ป่วยอายุน้อยและสุขภาพแข็งแรงก็เกิดขึ้นได้ โดยพบว่า ผู้ป่วยอายุ 19-29 ปี และอายุ 30-39 ปี เกิดภาวะแทรกซ้อนอย่างน้อย 1 อย่างในอัตราร้อยละ 27 และ 37 ตามลำดับ ผู้ป่วยชายมักเกิดภาวะแทรกซ้อนมากกว่าผู้ป่วยหญิง และผู้ป่วยผิวดำมักเกิดมากกว่าผู้ป่วยผิวขาว ที่น่าเป็นห่วงคือ ผู้ป่วยเกือบ 1 ใน 3 ไม่สามารถดูแลตัวเองหลังออกจากโรงพยาบาล ไม่ว่าจะมีอายุ เพศหรือสีผิวใด
นักวิจัยมหาวิทยาลัยลิเวอร์พูลที่ร่วมการศึกษานี้เตือนว่า ควรมีนโยบายติดตามดูแลระยะยาวแก่ผู้ติดเชื้อที่หายป่วยแล้ว เพราะโรคนี้ไม่ได้เป็นอันตรายเฉพาะผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัวอย่างที่คิดกันเท่านั้น ความรุนแรงของการติดเชื้อโควิด-19 ขณะรับเข้าโรงพยาบาลจะเป็นตัวบ่งชี้ภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้นในภายหลัง ดังนั้นการป้องกันภาวะแทรกซ้อนจึงต้องการยุทธศาสตร์ป้องกันขั้นต้น นั่นคือการฉีดวัคซีน ส่วนนักวิจัยมหาวิทยาลัยเอดินเบอระที่ร่วมการศึกษาชี้ว่า การกำหนดนโยบายรับมือกับโรคโควิด-19 ต้องคำนึงถึงเรื่องความเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนและผลกระทบทางสุขภาพด้วย ไม่ใช่แค่เรื่องเสียชีวิตเท่านั้น.-สำนักข่าวไทย