ทำเนียบ 8 ก.ค.- ศบค.เผยผู้ติดเชื้อพุ่ง 7,058 ราย เสียชีวิต 75 ราย กทม.ยังพบป่วยรายวันสูงสุด 2,212 ราย พบคลัสเตอร์ใหม่ในหลายพื้นที่ เร่งเปิดจุดบริการตรวจหาเชื้อโควิด-19
พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) รายงานสถานการณ์ผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ใน ประเทศไทย ซึ่งล่าสุดพบผู้ติดเชื้อรายใหม่อีก 7,058 ราย โดยเป็นการติดเชื้อในประเทศ 7,049 ราย แยกเป็นจากระบบเฝ้าระวังและบริการสุขภาพ 5,249 ราย จากการตรวจคัดกรองเชิงรุกในชุมชน 1,732 ราย จากเรือนจำ/ที่ต้องขัง 68 ราย และเดินทางมาจากต่างประเทศอีก 9 ราย รวมยอดผู้ป่วยสะสม 308,230 ราย ส่วนผู้เสียชีวิต เพิ่มอีก 75 ราย ทำให้ยอดเสียชีวิตรวม 2,462 ราย รักษาหายเพิ่มอีก 4,978 ราย รวมยอดรักษาหาย 236,149 ราย ยังรักษาอยู่จำนวน 69,619 ราย เป็นการรักษาอยู่ในรพ.35,640 ราย รพ.สนาม 33,979 ราย
ทั้งนี้มีผู้ป่วยอาการหนัก 2,564 ราย ในจำนวนผู้ป่วยหนักนี้ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจถึง 698 ราย คิดเป็น 27.22% ส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ 313 ราย และปริมณฑล และจังหวัดอื่นๆ โดยการเดินทางข้ามจังหวัด จึงทำให้ยอดการติดเชื้อในต่างจังหวัดมีรายงานค่อนข้างสูง และส่วนหนึ่งมีอาการรุนแรง ทำให้ต้องเพิ่มเตียงสีแดงในต่างจังหวัดด้วย
ส่วนรายละเอียดผู้เสียชีวิต 75 ราย เป็นเพศชาย 39 ราย เพศหญิง 36 ราย อายุ 33-94 ปี อยู่ในพื้นที่ กทม.มากที่สุด 38 ราย สมุทรปราการ 9 ราย นราธวาส ปทุมธานี จังหวัดละ 4 ราย นครปฐม ยะลา จังหวัดละ 3 ราย ชัยภูมิ สงขลา อุทัยธานี จังหวัดละ 2 ราย ฉะเชิงเทรา สระบุรี นครราชสีมา บุรีรัมย์ ปัตตานี สมุทรสงคราม สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา จังหวัดละ 1 ราย โดยมีโรคประจำตัว เป็นโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน ติดเตียง ไขมันในเลือดสูง โรคไต โรคอ้วน โรคหัวใจ โรคปอด โรคตับ หลอดเลือดสมอง ติดสุรา ซึ่งเป็นโรคประจำตัวที่เป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดความรุนแรงของโรคเพิ่มขึ้น โดยในจำนวนนี้ เป็นการติดเชื้อจากคนในครอบครัว 16 ราย และคนอื่นๆ 14 ราย และอาศัยและเดินทางเข้าไปในพื้นที่ระบาด ถึง 17 ราย และไปในสถานที่แออัด 12 ราย โดย 36% เสียชีวิตในช่วง 6 วันหลังได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อ และมีบางรายตรวจพบเชื้อภายหลังที่เสียชีวิตแล้ว
พญ.อภิสมัย กล่าวอีกว่า ขณะที่ กทม. มียอดผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่เพิ่มสูงสุดเป็นครั้งแรกเช่นกันที่ 2,212 ราย และอีก 10 จังหวัด มียอดผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นโดยจ.สมุทรปราการ มาอันดับสอง 565 ราย สมุทรสาคร 517 ราย ชลบุรี 290 ราย ปทุมธานี 229 ราย สงขลา 213 ราย นนทบุรี 180 ราย ปัตตานี 175 ราย ประจวบคีรีขันธ์ 150 ราย และยะลา 146 ราย ที่ติดใน 10 อันดับยอดผู้ป่วยติดเชื้อสูงสุด
สำหรับคลัสเตอร์ใหม่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร พบคลัสเตอร์สะสมแล้ว 121 แห่ง โดยวันนี้ (8 ก.ค.) พบเพิ่มอีก 3 คลัสเตอร์ ที่เขตคันนายาว ชุมชนสุเหร่าแดง ,หมู่บ้านย่านรามอินทรา และเขตบางแค โรงงานผลิตรองเท้า ส่วนคลัสเตอร์ใหม่ในพื้นที่ต่างจังหวัด ได้แก่ สระบุรี อ.แก่งคอย จากตลาดล้ง พบผู้ติดเชื้อ 14 ราย เพชรบุรี อ.เขาย้อย จากบริษัทชิ้นส่วนรถยนต์ พบผู้ติดเชื้อ 15 ราย
“สุดท้ายต้องเน้นให้ประชาชนเห็นภาพว่า การที่มีผู้ป่วยจาก กทม. และปริมณฑล เดินทางข้ามพื้นที่ ตอนนี้มีการเดินทางกระจายไปทั่วประเทศ ทำให้จังหวัดที่ไม่มีรายงานผู้ป่วยติดเชื้อโควิด (สีขาว) เป็นเลข 0 เป็นครั้งแรก ก็คือทุกจังหวัดทั่วประเทศมีผู้ติดเชื้อครบเลย” พญ.อภิสมัย กล่าว
พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ที่ประชุมเป็นห่วงการรายงานผู้ติดเชื้อต่อเนื่องของกลุ่มผู้ป่วยที่เดินทางไปต่างจังหวัด เช่นที่ภาคอีสาน ก่อนหน้านี้มีรายงานการติดเชื้ออยู่ที่กว่า 100 ราย แต่วันนี้เพิ่มไปที่ 841 ราย โดยตัวเลขเหล่านี้ถ้าเดินทางกลับไป 10-20 คน แล้วคุมให้คนเหล่านี้แยกกักตัวอยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสม คงไม่เห็นตัวเลขการกระจายไปยังครอบครัว ชุมชน และเพื่อนคนใกล้ชิดแบบนี้
พญ.อภิสมัย กล่าวอีกว่า ที่ประชุม ศบค. ได้มีการหารือเพื่อเร่งเปิดจุดบริการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ให้ประชาชนเข้าถึงได้มากขึ้น โดยในวันจันทร์ (12 ก.ค.) จะมีรถตรวจพระราชทาน ประจำอยู่ที่สนามธูปะเตมีย์ และหัวหมาก สำหรับที่เปิดให้บริการแล้ววันนี้ก็คือ จุดตรวจของประกันสังคม ตามมาตรา 33 และ ผอ.ศปก.ศบค. ได้เห็นชอบให้เปิดจุดตรวจประกันสังคมที่ศูนย์กีฬาเวศน์ ซึ่งจะมีการเปิดตรวจรับได้ในวันพรุ่งนี้ (9 ก.ค.) หากพบผู้ป่วยติดเชื้อก็จะนำเข้าสู่กระบวนการรักษา แต่หากไม่พบเชื้อก็จะมีการจัดสรรให้ฉีดวัคซีนมากขึ้น.-สำนักข่าวไทย