สธ.2ก.ค.-ผอ.สถาบันวัคซีน รับวัคซีนแอสตราฯ ไม่ตามเป้า 10 ล้านโดส เร่งหาจัดวัคซีนอื่นเพิ่ม แจงพยายามเจรจานำไฟเซอร์เข้ามาแล้ว สัญญาซื้อขายเสียเปรียบ ต้องหารือทางกฎหมาย อีกทั้งกระบวนการผลิต ได้วัคซีนมาจริงไตรมาส 4
นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวในการเสวนา “วัคซีนโควิด ไทยจะเดินต่อไปอย่างไร” ว่าเรื่องการจัดหาวัคซีนมีอยู่ 2 ส่วน คือการวางแผนจัดหาและการได้มาซึ่งจำนวนวัคซีนจริงๆ ซึ่งได้เตรียมการจัดหาแล้วควบคู่กับการขยายกำลังการฉีดวัคซีนด้วย ทั้งนี้ขยายกำลังการฉีดจะอยู่ที่ 10 ล้านโดส จึงพยายามจัดหาทุกแหล่งมาใช้ในระยะเร่งด่วน ซึ่งก็คือวัคซีนซิโนแวค เข้ามาตั้งแต่ ก.พ.-มิ.ย. 9.5 ล้านโดส โดยรวมวัคซีน ที่รัฐบาลจีนบริจาคด้วย
นพ.นคร กล่าวว่า ส่วนของวัคซีนแอสตราเซเนกา ซึ่งเป็นวัคซีนหลัก ทำสัญญาส่งมอบ 61 ล้านโดส ในปี 64 แต่ไม่ได้ระบุในสัญญาว่าต้องส่งมอบเดือนละเท่าไหร่ ซึ่งเมื่อดูกำลังการผลิตของแอสตราฯ ที่ผลิต โดยบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์มีกำลังการผลิต 180 ล้านโดสต่อปี เฉลี่ยเดือนละ 15 ล้านโดส แต่เมื่อต้องแบ่งสัดส่วนวัคซีนให้กับต่างประเทศ ก็อาจทำให้การจัดส่งวัคซีนให้ได้ไม่ถึงเดือนละ10 ล้านโดสตามเป้าที่เคยวางไว้ ทำให้ต้องคิดและหาวัคซีนจากแหล่งอื่นเข้ามาเสริม ส่วนเรื่องการนำข้อกฎหมายเรื่องห้ามส่งออกวัคซีนที่ผลิตในประเทศนั้น ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากเกรงกระทบต่อ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และนึกถึงใจเขาใจเรา
นพ.นคร กล่าวว่า ส่วนการจัดหาวัคซีนชนิด m-RNA อยู่ระหว่างการเจรจากับไฟเซอร์ ตอนแรกว่าจะส่งมอบไตรมาส 3 หรือประมาณ ส.ค. แต่เมื่อส่งใบจองทางไฟเซอร์ กลับระบุ การส่งมอบวัคซีนในไตรมาส 3 เป็นไปได้ยาก จึงจะส่งมอบวัคซีนในไตรมาส 4 แทน หรือประมาณ ต.ค.-พ.ย. จำนวน 20 ล้านโดส แต่ถ้าบริษัทผู้ผลิตวัคซีน ผลิตได้ไม่มากพอ กระบวนการทุกอย่าง ทั้งการส่งมอบก็ต้องถูกเลื่อนไป พร้อมยอมรับตลาดวัคซีน ขณะนี้ไม่ใช่ของผู้ซื้อ ย่อมเสียเปรียบและเป็นความเสียเปรียบในภาพรวมของประเทศ ดังนั้นต้องนำสัญญาซื้อขายไปปรึกษาสำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานกฤษฎีกาและขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.)เพื่อให้เสียเปรียบน้อยที่สุด
นพ.นคร กล่าวว่า นอกจากนี้ยังร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ มีการเจรจาจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมผ่านช่องทางการทูตหรือการจัดหาแบบรัฐต่อรัฐ มีทั้งวัคซีนของประเทศคิวบา ซึ่งเป็นซับยูนิตโปรตีนตัวแรกที่แสดงผลออกมามีประสิทธิภาพในการป้องกันโรค 92% เป็นวัคซีนที่ค่อนข้างปลอดภัย รวมถึงกำลังพิจารณาวัคซีนเคียวแวคของเยอรมันเช่นกัน แต่อยู่ในขั้นตอนการดูผลการศึกษา และข้อมูลเชิงลึกของวัคซีน คาดว่าในปีหน้าจะจัดหาวัคซีนตอบสนองต่อไวรัสกลายพันธุ์ให้มากขึ้น .-สำนักข่าวไทย