กรุงเทพฯ 27 มิ.ย.-เลขาธิการ คปภ. ห่วงใยกรณีมีข่าวคนตั้งใจติดเชื้อเพื่อหวังเคลมเงินประกันโควิด เตือนอย่าเสี่ยงทำ เพราะอาจเข้าข่ายไม่สุจริตหรือเป็นการฉ้อฉลประกันภัยและอาจชวดเงินประกัน
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงาน คปภ. เคยออกข่าวเตือนประชาชนมิให้หลงเชื่อกรณีมีการชักจูงให้ผู้เอาประกันภัยโควิด-19 บางรายเอาตัวไปเสี่ยงให้ติดเชื้อโควิด-19 เพื่อจะได้เคลมเงินประกัน เพราะการกระทำดังกล่าวอาจทำให้เป็นอันตรายถึงชีวิต และเป็นเหตุให้ไม่ได้รับเงินตามกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 เนื่องจากอาจเข้าเงื่อนไขการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ทั้งอาจถูกดำเนินคดีกรณีเข้าข่ายเป็นการฉ้อฉลประกันภัยอีกด้วยนั้น
ปัจจุบันมีการส่งข่าวกระจายตามช่องทางออนไลน์กลุ่มต่าง ๆ ว่ามีการปรากฏพฤติการณ์ดังกล่าวอีกในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 ระลอกสาม ซึ่งหากเป็นจริง และแม้จะปรากฏว่ามีผู้ที่มีพฤติการณ์เช่นนี้เป็นจำนวนน้อยก็ตาม ก็ย่อมเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบัน และกระทบต่อการใช้สิทธิโดยชอบของประชาชนผู้เอาประกันภัยโควิด-19 ที่สุจริต
ขณะนี้ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนกรณีประกันโควิด-19 ของสำนักงาน คปภ. ยังไม่ได้รับการร้องเรียนเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว อย่างไรก็ตาม สำนักงาน คปภ. จะติดตามอย่างใกล้ชิดและได้แนะนำให้บริษัทประกันภัยให้มีกระบวนการกลั่นกรองในการจ่ายเคลมให้รอบคอบ ถ้าตรวจพบกรณีการเคลมผิดปกติ ให้รีบแจ้งสำนักงาน คปภ. เพื่อจะดำเนินการสืบสวนสอบสวน ถ้าพบว่ามีการกระทำความผิดจริง ก็จะบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ ยังแนะนำให้บริษัทประกันภัยระมัดระวังการรับทำประกันภัยโควิด-19 ในแบบเจอจ่ายจบ รวมทั้งอาจมีการกำหนดจำนวนกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 ต่อราย โดยคำนึงถึงขีดความสามารถในการรับประกันภัยด้วย โดยจะได้เชิญทางสมาคมประกันวินาศภัยไทยร่วมหารือโดยเร็วต่อไป
“กรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 ถูกพัฒนาขึ้นเป็นการเฉพาะในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เพื่อหวังเป็นหลักประกันให้กับประชาชนในการบริหารความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการติดเชื้อโควิด-19 โดยไม่ได้ตั้งใจ และกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวจะให้ความคุ้มครองเฉพาะผู้เอาประกันภัยที่สุจริตเท่านั้น หากผู้ที่ทำประกันภัยไว้หลายฉบับและจงใจเอาตัวไปเสี่ยงให้ติดเชื้อ เพื่อหวังเงินเอาประกัน อาจเข้าเงื่อนไขการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตหรือเป็นการฉ้อฉลประกันภัยได้ ทั้งนี้ หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโปรดติดต่อสายด่วน คปภ. 1186” .-สำนักข่าวไทย