กรุงเทพฯ 27 เม.ย.- ผู้เชี่ยวชาญด้านปอด เผยผู้ป่วยโควิดระลอกเม.ย. กว่าครึ่งมีภาวะปอดอักเสบ ขณะที่ “หมอประสิทธิ์” ชี้โควิดรอบนี้ ผู้ป่วยอายุน้อยลง ป่วยหนักขึ้น เสียชีวิตช่วง 7-10 วัน จากนี้อาจพบผู้เสียชีวิตตัวเลข 2 หลักต่อวัน
รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และนายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า ผู้ป่วยโควิด-19 ในระลอกนี้ ส่วนใหญ่เชื้อลงปอดแทบทั้งนั้น และในจำนวนนี้ มีประมาณครึ่งหนึ่ง ที่มีภาวะปอดอักเสบ โดยสังเกตได้ในช่วง 1-5 วันแรก ปอดเริ่มอักเสบระยะแรกอาการยังไม่หนักมาก อาจมีอาการไอ ต่อมาปอดอักเสบระยะที่ 2 อยู่ในช่วงตั้งแต่ 10-15 วัน ถ้ารุนแรง จะมีอาการไอถี่ หอบเหนื่อย ทั้งนี้ไม่จำเป็นต้องเอกซเรย์ปอดทุกวัน จะเป็นไปตามข้อบ่งชี้ของแพทย์ โดยแพทย์จะเฝ้าระวังอาการในช่วง 10 วันแรกอย่างใกล้ชิด เพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีไวรัสลงปอด หรือปอดอักเสบรุนแรงในระยะที่ 2
ส่วนผลข้างเคียงจากการใช้ยาฟาวิพิราเวีย และมีอาการตอบสนองแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับการตอบสนองของร่างกายแต่ละคน ที่ต้องระวัง คือ คนอ้วน คนสูงอายุ คนมีโรคเรื้อรัง เมื่อติดเชื้อแล้วจะมีอาการหนักกว่ากลุ่มอื่นๆ จึงขอให้แนะนำให้เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด เพื่อลดความรุนแรงของโรค
ด้าน นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล บอกว่า สถานการณ์โควิดในไทย ขณะนี้เป็นผลพวงมาจากวันหยุดยาวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาที่อันตรายและน่าห่วง เพราะสายพันธุ์ที่พบเป็นสายพันธุ์ที่มีการกลายพันธุ์ ติดเชื้อได้ง่ายและรุนแรง โดยรอบนี้พบผู้ป่วยหนักเพิ่มขึ้น และมีอาการปอดอักเสบมากขึ้น มีความจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจมากขึ้น จึงมีโอกาสพบผู้เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้นไปด้วย ต่อไปไทยอาจพบผู้เสียชีวิตตัวเลข 2 หลักต่อวัน โดยพบว่าผู้ติดเชื้อและป่วยรอบนี้ มีอายุน้อยลง พบเพียงติดเชื้อเพียง 7-10 วัน ก็เสียชีวิตแล้ว ที่ออกมาเปิดเผยข้อมูลเพราะอยากให้ทุกคนตระหนัก เนื่องจากสถานการณ์ตอนนี้ ต้องใช้อุปกรณ์ และเตียง จำนวนมาก และเริ่มห่วงว่า ยาฟาวิพิราเวียร์ และเรมดิสซีเวียร์ ที่ทั้งโลกใช้รักษาโควิด อาจจะมีไม่เพียงพอ ที่สำคัญคือ จำนวนบุคลากร ที่เราไม่สามารถหามาพิ่มเพื่อช่วยดูแลผู้ป่วยได้
ขณะเดียวกัน ยังห่วงเรื่องการลักลอบเข้าเมือง โดยคนกลุ่มนี้มักหนีตายจากโรคในประเทศของตัวเองเข้ามาในไทย พร้อมย้ำการปล่อยให้มีกลุ่มคนหลุดรอดเข้ามา จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงของเชื้อกลายพันธุ์ที่อาจพบได้ โดยกลุ่มนี้มักไม่แสดงตัว เคลื่อนย้ายไปในหลายพื้นที่ และมักไม่ได้รับการตรวจเชื้อ ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้กับคนไทยมากยิ่งขึ้นไปอีก
นพ.ประสิทธิ์ บอกอีกว่า ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก พบสถานการณ์โควิดเริ่มกลับมาวิกฤติทั่วโลก เริ่มพบการกลายพันธุ์ของสายพันธุ์อังกฤษเดือนกันยายนปีก่อน และเริ่มกระจายไปในหลายประเทศ หลายทวีปทั่วโลก ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ เดิมอัตราการป่วยเฉลี่ย 1 ล้านคน จะพบภายใน 2-3 วัน แต่ปัจจุบันเพิ่มมากขึ้น เฉลี่ยวันละ 8 แสนคนต่อวัน ดังนั้นหากไม่มีมาตราการป้องกันตนเองให้ดี หรือไม่เร่งฉีดวัคซีน มีโอกาสที่จะพบผู้ป่วยเฉลี่ย 1 วัน 1 ล้านคน
และเมื่อเปรียบเทียบสายพันธุ์ของโควิดว่า ในส่วนของสายพันธุ์อังกฤษ หรือ B.1.1.7 พบว่าเดิมไม่มีความรุนแรง แค่แพร่เชื้อเร็ว แต่ปัจจุบันพบหลักฐานความรุนแรงเพิ่มขึ้น และอาจทำให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น ส่วนสายพันธุ์แอฟริกา หรือ B.1.351 เดิมแพร่กระจายเร็วและไม่พบความรุนแรงเพิ่มขึ้น ส่วนสายพันธุ์บราซิล P1 พบว่าทั้งแพร่เชื้อเร็ว และมีโอกาสติดเชื้อซ้ำได้อีก โดยขณะนี้พบการติดเชื้อในญี่ปุ่นแล้ว ส่วนสายพันธุ์ในสหรัฐอเมริกา พบถึง 2 สายพันธุ์ คือ B.1.427 และ B.1.429 ในเดือน ก.พ ที่ผ่านมา ส่วนสายพันธุ์ อินเดีย B.1.617 ยังไม่มีรายงานหรือข้อมูลเพิ่ม
ส่วนการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด องค์การอนามัยโลก ระบุว่า ณ วันที่ 25 เมษายน พบทั่วโลกมีการฉีดวัคซีนแล้ว 1,009 ล้านโดส เฉลี่ยวันละ 18 ล้านโดส พร้อมย้ำควรฉีดวัคซีนให้เร็ว เพราะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดจากไวรัสกลายพันธุ์ ตัวอย่างที่อิสราเอล เริ่มมีการฉีดวัคซีนวันที่ 19 ธ.ค.63 หลังฉีดไปแล้ว 10 ล้านโดส จากประชากรทั้งหมด 8.8 ล้านคน โดยฉีดเข็มแรก ร้อยละ 59.4 เข็ม 2 ร้อยละ 55.3 จะเห็นได้ว่าอัตราการตายเดิม 17 คนต่อวัน ปัจจุบันเหลือ 1 คนต่อวัน
ส่วนที่อินเดีย มีการฉีดวัคซีนช้า เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรที่มีถึง 1,366 ล้านคน โดยเมื่อวันที่ 16 ม.ค. เพิ่งมีการฉีดไปเพียง 140 ล้านโดส เป็นวัคซีนเข็มแรก ร้อยละ 8.7 เข็มที่ 2 ร้อยละ 1.6 ซึ่งถือว่ามีอัตราการฉีดน้อยมากเมื่อเทียบกับความหนาแน่และจำนวนประชากร จึงพบอัตราการตายของอินเดียตอนนี้เพิ่มสูงขึ้นถึง 10 เท่า อยู่ที่ 2,766 คน จากเดิมเฉลี่ยวันละ 100 คนต่อวัน ทั้งนี้การฉีดวัคซีนที่จะมีผลในการคุมโรคได้ ต้องฉีดร้อยละ 25 ขึ้นไปของจำนวนประชากร
สำหรับอัตราการใช้วัคซีนมากที่สุด พบว่า แอสตราเซเนกา มีการใช้ใน 91 ประเทศ รองลงมาไฟเซอร์ ใช้ใน 83 ประเทศ , สปุตนิควี ใช้ 62 ประเทศ, โมเดอร์นนา 48 ประเทศ จอห์นสันแอน์จอห์นสัน 40 ประเทศ ซิโนฟาร์ม 35 ประเทศ ซิโนแวค 22 ประเทศ และบารัต 6 ประเทศ.-สำนักข่าวไทย