รัฐสภา 25 ก.พ. -รัฐสภาผ่านวาระสอง ร่าง รธน. แก้ไขเพิ่มเติม เห็นด้วยทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ แต่ต้องมีผู้ใช้สิทธิเกินกึ่งหนึ่ง
การประชุมร่วมรัฐสภา ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ได้พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 256/16 กรณีการลงประชามติ โดยนายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการเสียงข้างน้อย แสดงความเห็นว่า การกำหนดให้ “ผู้มีสิทธิออกเสียงมาออกเสียงลงคะแนนไม่ถึงกึ่งหนึ่งให้ร่างรัฐธรรมนูญนั้นมีอันตกไป” นั้น เป็นความคิดไม่ถูกต้อง อาจเกิดกรณีที่ผู้มีอำนาจในเวลานั้นไม่ประสงค์ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่มีการประชาสัมพันธ์ ทำให้ประชาชนไม่ทราบถึงการลงมติ ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายเป็นกับดักและอาจเป็นประตูที่เปิดให้ผู้มีอำนาจทำลายร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมกับเสนอให้แก้ไข กำหนดให้ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงมาออกเสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ให้กำหนดวันลงประชามติใหม่
ขณะที่นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา ในฐานะกรรมาธิการเสียงข้างมาก ชี้แจงว่า วิธีการประชามติแบบเดิมกำหนดให้ต้องใช้คะแนนไม่ถึง 1 ใน 5 แต่เมื่อมีการยกร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ซึ่งตามมาตรา 13 ระบุว่าการออกเสียงที่จะถือว่ามีข้อยุติในการจัดทำต้องมีผู้มาใช้สิทธิเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิออกเสียง กรรมาธิการจึงเห็นว่าควรให้ความสำคัญตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติอยู่แล้ว เนื่องจากประชาชนเป็นผู้สถาปนารัฐธรรมนูญ ไม่ใช่เฉพาะผู้มีสิทธิเท่านั้น ส่วนกรณีที่ประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงมาออกเสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่งแล้วทำให้ร่างรัฐธรรมนูญตกไป โดยมีความกังวลเรื่องการประชาสัมพันธ์ที่ไม่เพียงพอนั้น ก็ยืนยันว่า ที่ผ่านมาการทำประชามติไม่เคยมีครั้งใดที่การประชาสัมพันธ์ไม่เพียงพอ แต่เพื่อเป็นการป้องกันไว้ ในมาตรา 19 จึงกำหนดให้ใช้เสียง 2 ใน 3 ของสภาเริ่มต้นใหม่ ซึ่งเป็นตัวป้องกันว่าจะเป็นไปตามกฎหมายที่ควรจะเป็น
จากนั้น ที่ประชุมได้ลงมติเห็นด้วยกับกรรมาธิการเสียงข้างมาก คือ ให้การทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญผ่านต่อเมื่อมีผู้มีสิทธิออกเสียงออกมาใช้สิทธิเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนผู้มีสิทธิ ด้วยคะแนนเห็นด้วย 521 ไม่เห็นด้วย 42 งดออกเสียง 17 และไม่ลงคะแนน 1 เสียง
ทั้งนี้ ที่ประชุมก็ได้พิจารณา มาตรา256/17-19 ไปอย่างรวดเร็ว ก่อนจะพิจารณาครบทุกมาตรา และผ่านวาระ 2 ทั้งหมด ซึ่งกระบวนการจากนี้ต้องพักไว้ 15 วัน ก่อนจะลงมติวาระ 3 ซึ่งคาดว่าเป็นช่วงเดือนมีนาคม ที่จะเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณา.-สำนักข่าวไทย