สำนักข่าวไทย 18 ก.พ.-ผอ.สำนักระบาด แจงหมอติดโควิด เสียชีวิตรายแรก เป็นอดีตอายุรแพทย์ รพ.มหาสารคาม เปิดคลินิกรักษาผู้ป่วยคลัสเตอร์โต๊ะแชร์มหาสารคาม 3 คน ไม่รู้มาก่อนว่าติดเชื้อ คาดติดจากละอองฝอยผู้ป่วยขณะตรวจ ที่ให้ผู้ป่วยอ้าปาก ออกเสียงตรวจปอดดูการอักเสบ
นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผอ.สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณี นพ.ปัญญา หาญพาณิชย์พันธุ์ อดีตแพทย์ รพ.มหาสารคาม เสียชีวิตจากโควิด-19 ว่า การเสียชีวิตของคุณหมอปัญญา นับเป็นบุคลากรทางแพทย์รายแรกที่เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 โดยจากการสอบสวนโรค พบว่า คุณหมอปัญญา เป็นอดีตอายุรแพทย์ ประจำหน่วยไตเทียม รพ.มหาสารคาม หลังเกษียณอายุราชการ ได้มาเป็นแพทย์ประจำคลินิก 2 แห่ง เกี่ยวกับหน่วยไตเทียม และคลินิกทั่วไป ส่วนตัวคุณหมอปัญญามีโรคประจำตัว ทั้งมะเร็งต่อมลูกหมาก ซึ่งสาเหตุของการติดเชื้อ มาจากการให้การรักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 3 คน ที่มาจากคลัสเตอร์โต๊ะแชร์ ซึ่งผู้ป่วยทั้ง 3 คนนี้ไม่รู้ตัวมาก่อนว่าติดเชื้อโควิด เมื่อรู้แล้ว คุณหมอปัญญาก็รับการตรวจหาเชื้อ และระวังตัวอย่างดี ตรวจครั้งแรกเมื่อวันที่ 29 ม.ค. แต่ไม่พบว่าติดเชื้อ แต่มีอาการไข้นิดหน่อย จึงตรวจหาเชื้อซ้ำ ในวันที่ 1 ก.พ. จากนั้นอาการไม่ดีขึ้นและได้รับการรักษาใน รพ. เมื่อวันที่ 2 ก.พ. แต่อาการไม่ดีขึ้น ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ และเสียชีวิตเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา จึงยังไม่ได้มีการรายงานต่อทาง ศบค.
นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า จากข้อมูลในการติดเชื้อโควิด-19 ระลอกใหม่ 15 ธ.ค.-ปัจจุบัน มีบุคลากรทางการแพทย์ หรือสหวิชาชีพ ติดเชื้อโควิด 36 คน แบ่งเป็นแพทย์ 4 คน ทันตแพทย์ 1 คน พยาบาล 9 คน เภสัชกร 3 คน ผู้ช่วยพยาบาล 1 คน นักเทคนิคการแพทย์ 1 คน นักรังสีรักษาที่ทำงานที่เอกซเรย์ ปอด 2 คน เจ้าหน้าที่พยาบาลเก็บเงิน 4 คน เป็นต้น ส่วนใหญ่พบในบุคลากรเพศหญิงมากกว่าเพศชาย และพบว่าอายุเฉลี่ยส่วนใหญ่คือ 36 ปี โดยผู้ที่มีอายุน้อยสุด 21 ปี เป็นนักศึกษาแพทย์ และมากสุด 70 ปี เป็นอดีตบุคลากรที่เกษียณอายุราชการ และเกณฑ์ของบุคลากรที่ติดเชื้อส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงาน
ส่วนพื้นที่ที่บุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อมากที่สุดได้แก่ กทม. และสมุทรสาคร จังหวัดละ 12 คน รองลงมา นนทบุรี 3 คน ส่วนจังหวัดอื่น จังหวัดละ 1 คน ได้แก่ เพชรบุรี กายจนบุรี อ่างทอง สิงหบุรี ขอนแก่น ปทุมธานี ตาก ราชบุรี ชลบุรี ซึ่งการติดเชื้อนี้มีทั้งติดจากผู้ป่วย จากการตรวจรักษา และ ติดจากบุคคลใกล้ชิดผู้ป่วย
นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่าส่วนตัวรู้สึกสนิทสนมกับครอบครัวคุณหมอปัญญา จึงขอนำข้อมูลของคุณหมอปัญญามาเป็นอุทาหรณ์ในการดูแลรักษาผู้ป่วย ซึ่งคุณหมอปัญญามีโรคประจำตัวเป็นมะเร็ง และมีภาวะน้ำตาล ไขมันในเลือดสูง และมีถุงลมในปอดโป่งพองด้วย ซึ่งโรคต่างๆ คุณหมอมีการรักษาอย่างต่อเนื่องและควบคุมด้วยอาหาร ดูแลตัวเองอย่างดี เพราะโรคเหล่านี้เป็นโรคเรื้อรัง
ทั้งนี้ คุณหมอปัญญาได้ให้การรักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 3 คน ที่มารับการรักษา สอบสวนข้อมูลก็พบว่าทั้ง 3 คนไม่รู้ตัวเองว่าป่วยมาก่อน และก็เป็นกลุ่มคลัสเตอร์โต๊ะแชร์ ที่ จ.มหาสารคาม เพิ่งมาได้รับการวินิจฉัยภายหลัง โดยทั้ง 3 คนนี้ เดินทางมาตรวจรักษากับคุณหมอปัญญาในวันที่ 13 ม.ค. 1 คน. มาตรวจรักษา 14 ม.ค. 1 คน และ 25 ม.ค. 1 คน และเมื่อทราบว่าผู้ป่วยทั้ง 3 คนติดเชื้อโควิด ก็รีบไปตรวจทันที เมื่อวันที่ 29 ม.ค. แต่ไม่พบเชื้อ แต่เริ่มมีไข้ต่ำ จึงรับการตรวจและเริ่มพบเชื้อ วันที่ 1 ก.พ. จึงนอนรับการรักษาตั้งแต่วันที่ 2 ก.พ. ที่ รพ.มหาสารคาม แต่หลังจากนั้นอาการดีขึ้น แต่เริ่มมีอาการของปอด เมื่อวันที่ 3 ก.พ. มีอาการตับไต และจนถึงขึ้นไตวาย ต้องรับการฟอกไต วันที่ 7 ก.พ. ใส่ท่อช่วยหายใจ และย้ายไปรักษาต่อที่ รพ.ศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น แต่ว่าการทำงานของปอด ไต เริ่มแย่ลง และตรวจพบว่าการติดเชื้อในกระแสเลือดจากเชื้อรา ในวันที่ 16 ก.พ. แสดงว่าผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันไม่ดี ปอดทำงานไม่ได้ หัวใจเต้นผิดจังหวะ เสียชีวิตในเวลา 01.19 ของ วันที่ 18 ก.พ. การเสียชีวิตแพทย์ลงความเห็นมาจากโควิด-19 และมีภาวะแทรกซ้อน ระบบทางเดินหายใจ หลอดเลือดล้มเหลว
นพ.ณัฐพงศ์ กล่าวว่า เมื่อลงรายละเอียดในการตรวจรักษาที่คลินิกของคุณหมอปกติ ใส่แมสก์ร่วมกับเฟซชิลด์ เนื่องจากมีผู้ป่วย 1 ใน 3 มีไข้มาหลายวัน จึงทุ่มเทอย่างละเอียด ให้ผู้ป่วยอ้าปากดูการอักเสบของคอ ลิ้นไก่ ดูการเคลื่อนไหวของคอ และให้ผู้ป่วยหายใจแรงๆ เพื่อดูว่ามีภาวะการอักเสบของปอดหรือไม่ จึงเชื่อว่าตรวจส่วนนี้ น่าจะทำให้ละอองฝอย หรือน้ำลายของผู้ป่วยที่มีเชื้อแล้ว มีการสัมผัส หรือแทรกเข้ามายังหน้ากากของคุณหมอปัญญา ก็เป็นได้ ดังนั้นขอให้บุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงาน สวมเครื่องป้องกัน สวมถุงมือ มีการล้างถอดชุดออก เก็บชุดไปกำจัด ส่วนสถานที่ตรวจขอให้มีระบบระบายอากาศ และมีระยะห่างระหว่างผู้ป่วย ส่วนในประชาชน อยากให้ประชาชนสนใจสุขภาพของตนเอง คนที่มีโรคเรื้อรัง มีความเสี่ยง ภูมิต้านทานลดน้อยลงกว่าปกติ การไปที่ชุมชนพื้นที่เสี่ยงควรงดเว้น และขอให้ความร่วมมือบอกประวัติอย่างตรงไปตรงมา ทำให้การทำงานแพทย์พยาบาลง่ายขึ้น.-สำนักข่าวไทย