สงขลา 27 ม.ค. – นักวิจัย มอ. ค้นพบ “แมลงวันขายาวปีเตอร์อาจารย์จุฑามาส” สิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ของโลกในสกุลแมลงวันขายาว โดยถูกพบเพียงแห่งเดียวที่ป่าชายเลนใน จ.สตูล
ดร.อับดุลเลาะ ซาเมาะ นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญด้านอนุกรมวิธานของแมลงวันขายาว และแมลงวันเหาค้างคาว พิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา 50 พรรษา สยามบรมราชกุมารีฯ ม.สงขลานครินทร์ (มอ.) ได้เปิดเผยการค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ของโลกในสกุลแมลงวันขายาว นั่นคือ “แมลงวันขายาวปีเตอร์อาจารย์จุฑามาส”
ดร.อับดุลเลาะ บอกว่า แมลงวันขายาวชนิดนี้ถูกค้นพบเป็นครั้งแรกจากงานวิจัยระดับปริญญาเอก โดยร่วมกับนักวิจัยสิงคโปร์ และเบลเยียม ที่หน่วยวิจัยป่าชายเลนตำมะลัง อ.เมือง จ.สตูล เมื่อปี 2014 จนกระทั่งได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่อย่างเป็นทางการในปี 2015 สำหรับชื่อที่ตั้งเอาไว้ เพื่อเป็นเกียรติแก่ รศ.จุฑามาส ศตสุข อาจารย์ที่ปรึกษาของการวิจัยขณะนั้น และปัจจุบันท่านดำรงตำแหน่ง ผอ.พิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยาฯ ม.อ.
แมลงวันขายาว สามารถพบได้ในป่าชายเลนที่ติดกับทะเลเปิด แต่ขณะนี้พบได้เพียงที่ป่าชายเลนตำมะลังแห่งเดียวเท่านั้น แมลงวันชนิดนี้มีบทบาทต่อระบบนิเวศป่าชายเลน เนื่องจากมันจะกินสิ่งมีชีวิตจำพวกลูกน้ำที่จะกลายเป็นยุง และตัวอ่อนของริ้นน้ำเค็มที่อาจจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคน หรือสัตว์ป่าชนิดอื่นๆ ซึ่งเปรียบเสมือนตัวควบคุมสมดุลของระบบนิเวศให้มีความสมบูรณ์ และจำนวนแมลงวันขายาวชนิดนี้ไม่ว่าจะมีมากหรือน้อย ก็จะไม่ทำอันตราย ต่อคนหรือสัตว์ชนิดอื่นๆ
สำหรับลักษณะเด่นคือ ลำตัวมีสีเขียวอมทอง มีความยาวลำตัวประมาณ 1- 7 มม. ตัวเล็กสุดจะมีขนาดอยู่ที่ 1 มิลลิเมตร และใหญ่สุดที่พบราว 6-7 มิลลิเมตร มีปล้องหนวดหนาและใหญ่ ส่วนที่ยื่นออกจากทางด้านล่างของส่วนสืบพันธุ์เพศผู้มีลักษณะคล้ายรองเท้าบูท แมลงวันขายาวทั่วโลกมากกว่า 7,000 ชนิด ในไทยพบมากว่า 80 ชนิด
ผู้ที่สนในสามารถเยี่ยมชมศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่พิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา 50 พรรษา สยามบรมราชกุมารี มอ. – สำนักข่าวไทย