ทำเนียบรัฐบาล 12 ม.ค.-นายกฯ เผย ครม. เห็นชอบมาตรการบรรเทาผลกระทบโควิด-19 ให้ประชาชนทั้งลดค่าไฟ ค่าน้ำประปา 2 เดือน เพิ่มความเร็วอินเทอร์เน็ต เตรียมเปิด “คนละครึ่ง” เฟส 3
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวภายหลังเป็นประธานประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบมาตรการด้านเศรษฐกิจ เพื่อบรรเทาผลกระทบให้กับประชาชนจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ โดยลดค่าใช้จ่าย ประกอบด้วย การลดค่าไฟฟ้าทั้งในส่วนของครัวเรือน/กิจการขนาดเล็ก เป็นเวลา 2 เดือน ตั้งแต่รอบบิลเดือนกุมภาพันธ์ และมีนาคม ซึ่งครัวเรือนที่ใช้ไฟไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือน จะงดเก็บค่าไฟฟ้า 90 หน่วยแรก ส่วนที่ใช้เกินกว่า 150 หน่วยต่อเดือน ให้ลดตามอัตราที่กำหนด สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้ากิจการขนาดเล็ก ซึ่งไม่รวมหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจ ให้สิทธิ์ใช้ไฟฟ้าฟรี 50 หน่วยแรก
“ครม.ยังเห็นชอบให้ลดค่าน้ำประปาลง ร้อยละ 10 เฉพาะบ้านที่อยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็ก ไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ เป็นเวลา 2 เดือน คือรอบบิลเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม ส่วนค่าอินเทอร์เน็ต หน่วยงานราชการได้หารือกับผู้ประกอบการ และมีมติเพิ่มความเร็วและความแรงของอินเทอร์เน็ตบ้านและโทรศัพท์เคลื่อนที่ และลดค่าใช้จ่าย ให้ผู้ใช้บริการใช้งานได้ดียิ่งขึ้น เพื่อสนับสนุนการทำงานที่บ้าน และให้ประชาชนสามารถโหลดแอปพลิเคชัน “หมอชนะ” ฟรี ไม่คิดค่าดาต้าเป็นเวลาสามเดือน” นายกรัฐมนตรี กล่าว
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากการติดตามประเมินผลโครงการคนละครึ่ง ถือว่ายังเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเหลือประชาชน และทำให้เศรษฐกิจเดินหน้าไปได้ด้วยดี จึงจะเปิดให้ลงทะเบียนรอบใหม่อีกประมาณ 1 ล้านสิทธิ์ ในช่วงปลายเดือนมกราคมนี้ ทั้งนี้ รัฐบาลมีนโยบายเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทุกกลุ่ม ให้ครอบคลุมเหมือนเช่นที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นแรงงานนอกระบบ อาชีพอิสระ เกษตรกร ซึ่งเบื้องต้นให้พิจารณาเยียวยาที่เหมาะสม จำนวน 3,500 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นระยะเวลา 2 เดือน โดยให้กระทรวงการคลังเร่งจัดทำรายละเอียดเสนอเข้าที่ประชุม ครม. สัปดาห์หน้า ซึ่งดำเนินการคำนึงถึงสถานการณ์ของโควิด-19 ทั้งในปัจจุบันและอนาคต จึงขอพิจารณาช่วยเหลือในช่วง 2 เดือนก่อน
“การช่วยเหลือผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไป พบว่าสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อเสริมสภาพคล่องในสถาบันการเงินของรัฐมีวงเงินเหลืออยู่กว่า 2 แสนล้านบาท จึงให้กระทรวงการคลังประสานธนาคารแห่งประเทศไทย ช่วยเหลือทั้งด้านหนี้สินและสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการและประชาชนโดยเร็ว เช่น สินเชื่อธนาคารออมสิน 10,000-15,000 บาทต่อราย ดอกเบี้ยต่ำ 0.1-0.35 ต่อเดือน ซึ่งจะมีการหารือกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป ให้ขยายมาตรการลดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ในอัตราร้อยละ 90 ยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอนอสังหาริมทรัพย์ เหลือร้อยละ0.01 ให้กระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทยเร่งรัดทำข้อกำหนดและประกาศที่เกี่ยวข้อง เสนอคณะ ครม.ต่อไป” นายกรัฐมนตรี กล่าว
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การช่วยเหลือประชาชนผู้ใช้แรงงานในระบบประกันสังคม เช่น การลดหย่อนเงินสมทบนายจ้างและผู้ประกันตน การเยียวยากรณีว่างงานให้ผู้ประกันตน สามารถเข้ารับการรักษา รวมถึงค่าใช้จ่ายโดยไม่ต้องสำรองเงินไปก่อน รวมถึงพิจารณามาตรการดูแลแรงงานนอกระบบประกันสังคมด้วย ทั้งนี้ มาตรการการช่วยเหลือด้านการดำรงชีวิตของประชาชน แม้จะไม่ใช่จำนวนมากมายนัก แต่เชื่อว่าจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนได้ในระดับหนึ่งจนกว่าสถานการณ์จะปรับดีขึ้น และแม้ว่าการช่วยเหลือประชาชนอาจทำให้รายได้ของรัฐบาลลดลง แต่ถือเป็นเรื่องความเดือดร้อนที่รัฐบาลต้องดูแล.-สำนักข่าวไทย