รัฐสภา 16 ก.ย.- กมธ.งบ 64 พิจารณาลดงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 จำนวน 31,000 ล้านบาท เพิ่มงบสาธารณสุข-มหาดไทย-ศาล-กองทุนเสมอภาคทางการศึกษา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุม พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ซึ่งคณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว ในวาระที่ 2 และ 3
นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 รายงานต่อสภาว่า ตั้งแต่การรับหลักการในวาระที่ 1 ในวันที่ 3 ก.ค. 2563 และ กมธ.วิสามัญฯ เริ่มพิจารณาในวันที่ 8 ก.ค. – 8 ก.ย. 2563 โดยพิจารณางบประมาณของ 721 หน่วยงาน และพิจารณาตามแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนการปฏิรูปประเทศ ความมั่นคงของชาติ แนวนโยบายของรัฐบาล เงื่อนไขเศรษฐกิจและผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยมีข้อเสนอให้รัฐบาลได้กำหนดตัวชี้วัดโดยต้นทุน การประเมินความคุ้มค่า และให้ความสำคัญกับการทำงบประมาณบูรณาการอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดความซ้ำซ้อนและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และเพิ่มงบประมาณในการลงทุน เช่น การบริหารจัดการน้ำ การศึกษา การวิจัยและนวัตกรรม และสาธารณสุข
การดำเนินงานแบ่งเป็น 8 คณะอนุกรรมาธิการ โดยปรับลดงบประมาณ 31,965,549,000 บาท จาก 1.รายการที่ไม่สอดคล้องกับสภาพในปัจจุบันหรือที่ดำเนินการไปแล้วโดยการใช้จ่ายโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณ 2.รายการที่สามารถปรับลดเป้าหมายหรือปรับเปลี่ยนในประหยัด เช่น การอบรมสัมมนา การจ้างเหมาบริการ การจ้างที่ปรึกษา การประชาสัมพันธ์ การเดินทางไปราชการต่างประเทศ เป็นต้น 3. รายการที่มีการดำเนินการล่าช้ากว่าแผนที่กำหนดและคาดว่าไม่สามารถดำเนินการในปี 2564 4. รายการที่ใช้งบประมาณจากแหล่งอื่นนอกเหนืองบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ เพื่อนำไปจัดสรรให้กับส่วนราชการตามที่ ครม. เสนอตามความเหมาะสมและจำเป็น 17,419 ล้านบาท จัดสรรให้หน่วยงานรัฐสภา ศาล องค์กรอิสระ และองค์กรอัยการ จำนวน 509 ล้านบาท ทำให้เหลืองบประมาณปี 2564 รวม 3.28 ล้านล้านบาท นอกจากนี้มีการเพิ่มงบประมาณให้กระทรวงสาธารณสุข เพื่อค่าใช้จ่ายสำหรับบุคคลากร, กระทรวงมหาดไทย เพื่อสงเคราะห์เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและผู้ป่วยเอดส์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการเก็บภาษี, กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา, สำนักงานศาลยุติธรรม รวม 1,792,828,700 บาท
จากนั้นที่ประชุมได้พิจารณา มาตรา 1 ชื่อพระราชบัญญัติ นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กรุงเทพมหานคร พรรคเพื่อไทย อภิปรายเสนอให้ต่อท้ายชื่อพระราชบัญญัติว่า ที่มาจากภาษีของประชาชนทั้งประเทศ เพราะที่ผ่านมารัฐบาลไม่ได้สำนึกว่าเงินที่ใช้เป็นของประชาชน ตั้งแต่รัฐประหารถึงปัจจุบันใช้งบสุรุ่ยสุร่ายมาตลอด ใช้วิธีการกู้เงินมาแจกแล้วก็กู้เงินต่อ รวมถึงงบประมาณที่ตั้งไม่ได้คำนึงถึงสถานการณ์โควิด-19 ในปัจจุบัน และพรรคร่วมฝ่ายค้านเห็นตรงกันว่าไม่ควรให้โอกาสรัฐบาลอีกแล้ว
ขณะที่มาตรา 2 การกำหนดวันบังคับใช้ร่าง พ.ร.บ.นั้น นายพิสิฐ ลี้อาธรรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายแปรญัตติจากเดิมระบุให้ พ.ร.บ.มีผลบังคับใช้วันที่ 1 ตุลาคม แต่ไม่ได้กำหนดวันสิ้นสุดไว้ จึงทำให้มีการของบประมาณกันเผื่อไว้ จึงเห็นควรให้เขียนชัดเจนว่ามีผลบังคับใช้ถึง 1 กันยายน เพื่อทำความเข้าใจกับหน่วยงานราชการจะเบิกจ่ายล้าช้าไม่ได้ จะได้เกิดการใช้จ่ายโดยรวดเร็วเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และขอให้สำนักงบประมาณตั้งเป็นข้อสังเกตในการจัดทำร่างกฎหมายปีต่อไป
มาตรา 3 การรักษาการตามพระราชบัญญัติ นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กรุงเทพมหานคร พรรคเพื่อไทย อภิปรายแปรญัตติจากเดิมกำหนดในมาตรา 3 ให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ เปลี่ยนเป็นให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ ตั้งแต่งบประมาณปี 2565 เป็นต้นไป เนื่องจากปัญหารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หลายคนลาออกจนจำไม่ได้แล้ว จึงต้องให้คณะรัฐมนตรีเข้าไปรักษาการเพื่อร่วมรับผิดชอบด้วย.-สำนักข่าวไทย