รัฐสภา 1 ก.ย.-ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล 206 คน ลงชื่อยื่นญัตติร่างแก้ไข รธน.แล้ว “วิรัช” ยอมรับสัญญาณจาก ส.ว.ยังไม่ค่อยดี ต้องรอฟังการอภิปราย 23-24 ก.ย.นี้
พรรคร่วมรัฐบาลนำโดยนายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล ( วิปรัฐบาล) พร้อมตัวแทนพรรคร่วมรัฐบาล ยื่นร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พร้อมรายชื่อ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลที่สนับสนุนจำนวน 206 รายชื่อต่อนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ซึ่งนายชวน กล่าวว่า ก่อนหน้านี้พรรคร่วมฝ่ายค้านยื่นร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเข้ามาแล้ว และจะนำบรรจุเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุมร่วมของรัฐสภาพร้อมกัน
นายวิรัช กล่าวว่า การยื่นแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญเพียงร่างเดียวในนามพรรคร่วมรัฐบาล สะท้อนว่าพรรคร่วมรัฐบาลยังเหนียวแน่น และหากที่ประชุมรัฐสภารับหลักการจะตั้งกรรมาธิการร่วมทั้งคณะรัฐมนตรี ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล ส.ส.ฝ่ายค้าน และ ส.ว.มาร่วมกันปรับแก้ในวาระที่ 2 ซึ่งเบื้องต้นประสานงานกับทาง ส.ว.เป็นการภายในเป็นระยะๆ แล้ว แต่ยอมรับว่าสัญญาณยังไม่ค่อยชัดเจนว่าจะได้รับการสนับสนุนมากน้อยเพียงใด จึงต้องรอการอภิปรายของส.ส.และ ส.ว.ในการประชุมร่วมรัฐสภาวันที่ 23-24 กันยายนนี้ก่อน เพราะไม่อยากไปเร่งรัดขอความชัดเจนจาก ส.ว.
“ตามร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ หากมีประเด็นใดที่สามารถปรับแก้ได้ก็พร้อมดำเนินการ เนื่องจากหากรัฐบาลไม่ฟังเสียง ส.ว.จะไม่สามารถเดินหน้าแก้ไขได้ จึงต้องดำเนินการอย่างเป็นกลาง ส่วนตัวผมมองว่าการกำหนดรายละเอียดในร่างแก้ไขที่ยื่นไปนั้น ยังมีรายละเอียดมากไปด้วยซ้ำ ต้องยอมรับว่าในระยะเวลา 1 ปีเศษที่ใช้รัฐธรรมนูญมา พบความบกพร่องหลายจุด จึงเห็นว่าควรแก้ไข และการตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาศึกษาปัญหาและหลักเกณฑ์การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อนำไปสู่การตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.)” ประธานวิปรัฐบาล กล่าว
ด้านนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองประธานวิปรัฐบาล กล่าวถึงร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ฝ่ายค้านและรัฐบาลยึดหลักตรงกันในการแก้ไขมาตรา 256 และให้ตั้ง ส.ส.ร. รวมถึงยังมีเสียงเรียกร้องจากภายนอกให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงมีกระบวนการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ร. มายกร่างรัฐธรรมนูญ จึงหวังว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงตามครรลองของระบอบประชาธิปัตย์อย่างสันติวิธี และพรรคร่วมรัฐบาล ขอความร่วมมือทุกภาคส่วน ให้ความร่วมมือในการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ประสบผลสำเร็จ
ส่วนที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญกำหนดขั้นตอนเมื่อ ส.ส.ร.ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จสิ้นและต้องส่งกลับมาให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบก่อนนั้น นายชินวรณ์ กล่าวว่า เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นถึงความเห็นร่วมกัน เพราะการจัดทำรัฐธรรมนูญ ถ้าไม่มีความเห็นพ้องร่วมกันจะเกิดความขัดแย้ง จึงวางระบบไว้ 2 ระบบที่จะต้องผ่านการตรวจสอบจากรัฐสภาก่อน หากรัฐสภาไม่ให้ความเห็นชอบ จะต้องนำไปประชามติขอความเห็นจากประชาชน รวมถึงยังเป็นหลักเกณฑ์ตามการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ด้วย.-สำนักข่าวไทย