ภูเก็ต 24 ส.ค. – พบแล้วศพที่ 13 เหยื่อดินโคลนถล่มทับบ้านเรือนประชาชน ต.กะรน อ.เมือง จ.ภูเก็ต ญาติรับศพไปบำเพ็ญกุศล ท่ามกลางความโศกเศร้า ขณะที่ชาวบ้านเรียกร้องตรวจสอบการก่อสร้างอาคารของวัดพระใหญ่ที่ตั้งอยู่บนเทือกเขานาคเกิด
ครอบครัวของผู้เสียชีวิตทั้ง 13 ราย เดินทางมาติดต่อขอรับร่างกลับไปบำเพ็ญกุศล ท่ามกลางความเศร้าโศกเสียใจต่อการสูญเสียที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ขณะที่วันนี้ชาวบ้านในพื้นที่ ต.กะรน พากันออกมาเรียกร้องให้ทางการตรวจสอบการก่อสร้างอาคารของวัดพระใหญ่ที่ตั้งอยู่บนเทือกเขานาคเกิด เพราะตั้งข้อสังเกตว่าสาเหตุที่ดินสไลด์ลงมารุนแรงอาจเกิดจากการปรับพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติเทือกเขานาคเกิด ที่เคยมีความอุดมสมบูรณ์
ขณะที่ประธานมูลนิธิพระใหญ่ออกมาชี้แจงผ่านทางสำนักข่าวไทย ยอมรับเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ยืนยันว่าการก่อสร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่บนเทือกเขานาคเกิด ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ขออนุญาตอย่างถูกต้องตามกฎหมายจากกรมป่าไม้
เหตุการณ์ดินโคลนจากเทือกเขานาคเกิดสไลด์ถล่มลงมาทับบ้านเรือนประชาชนที่ปลูกติดกับที่ราบเชิงเขา จนส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 13 ราย เป็นคนไทย 2 ราย เมียนมา 9 ราย และรัสเซียอีก 2 ราย
เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อช่วงเช้ามืดวันที่ 23 ส.ค.ที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้เจ้าหน้าที่ยุติการค้นหาทั้งหมดแล้ว หลังช่วงบ่ายที่ผ่านมาพบร่างผู้สูญหายรายสุดท้าย เป็นหญิงชาวเมียนมา โดยญาติที่มาเฝ้ารอการค้นหาร้องไห้อย่างหนักเมื่อพบว่าคนที่รักจากไปอย่างไม่มีวันกลับ โดยร่างผู้สูญหาย 3 รายที่พบล่าสุดในวันนี้ 2 รายพบบริเวณบ้านเช่าใกล้กับจุดที่พบศพชาวรัสเซียก่อนหน้านี้ โดยเจ้าหน้าที่กู้ภัยเล่าว่าขณะเข้าไปพบร่างของผู้เสียชีวิตทั้ง 2 คน เป็นชายและหญิง อยู่ในสภาพกอดคอกัน ภายในมือยังถือไฟฉายและโทรศัพท์มือถือไว้ และอีกศพพบบริเวณบ้านเช่าที่ปลูกสร้างอยู่ด้านล่าง ห่างจากจุดที่ดินสไลด์ลงมาราว 300 เมตร
เจ้าของบ้านเช่าซึ่งถูกดินโคลนพัดลมลงมาทับบ้านได้รับความเสียหายทั้งหมด และยังมีผู้เช่าเสียชีวิตภายในบ้าน 2 คน คือ ชาวรัสเซีย เล่าทั้งน้ำตาว่ารู้สึกเสียใจมากกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเหตุการณ์ในครั้งนี้ทำให้ตนเองเองกลายเป็นคนสิ้นเนื้อประดาตัว เพราะใช้เงินที่เก็บหอมรอมริบมาทั้งชีวิตในการสร้างบ้านให้เช่า
อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเขาบอกว่าไม่ได้อยู่เหนือความคาดหมายแต่อย่างใด เพราะเมื่อ 10 ปีก่อนเขาเคยเห็นร่องรอยการสไลด์ของดินภูเขาในจุดนี้มาแล้วในช่วงที่มีการก่อสร้างวัดบนเทือกเขานาคเกิด และรู้สึกวิตกกังวลมาโดยตลอดว่าอาจจะเกิดเหตุการณ์รุนแรงแบบนี้เข้าสักวันหนึ่ง
ด้านนายชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่วันนี้เดินทางมาติดตามสถานการณ์และให้กำลังใจผู้ประสบภัย บริเวณศูนย์ช่วยเหลือพักพิงชั่วคราว ซึ่งวันนี้ทัพเรือภาคที่ 3 นำรถโรงครัวพระราชทาน มาปรุงอาหารเลี้ยงใผู้ประสบภัยจำนวน 3 มื้อ ได้สั่งการที่ให้ผู้ว่าฯ ภูเก็ต เร่งเข้าไปตรวจสอบการก่อสร้างอาคารของวัดพระใหญ่ บนเทือกเขานาคเกิด ตามที่ชาวบ้านร้องเรียนให้ตรวจสอบ
นายตริณ ทิพย์มงคล สมาชิกสภาเทศบาลตำบลกะรน ให้ข้อมูลกับสำนักข่าวไทยว่า อดีตเทือกเขานาคเกิด มีความอุดมสมบูรณ์มาก แต่หลังจากมีการขึ้นไปปรับพื้นที่ก่อสร้างอาคารก็ทำให้สภาพพื้นที่ดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไปมาก และเชื่อว่าเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นในครั้งนี้
ทีมข่าวสำนักข่าวไทยได้ขึ้นไปตรวจสอบบนวัดพระใหญ่ ซึ่งตั้งอยู่บนเทือกเขานาคเกิด เพื่อให้เห็นกับตาว่าการสไลด์นั้นมีต้นทางมาจากที่ไหนอย่างไร พบว่าระหว่างเส้นทางที่ขึ้นไปบนเทือกเขานาคเกิด มีสิ่งปลูกสร้างต่างๆ เกิดขึ้นเรียงรายตลอดสองข้างทาง ทั้งร้านอาหาร ปางช้าง ส่วนวัดพระใหญ่ตั้งอยู่บนยอดสุดของเขานาคเกิด ปัจจุบันเป็นแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของภูเก็ต ที่มีนักท่องเที่ยวนิยมเดินทางขึ้นไปกราบสักการะพระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่ประดิษฐานอยู่บนยอดเขา รู้จักกันดีในนามของพระพุทธมิ่งมงคลเอกนาคคีรี
ทีมข่าวยังได้สอบถามรายละเอียดกับนายสุพร วณิชกุล ประธานมูลนิธิวัดพระใหญ่ ยอมรับว่ารู้สึกเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หลังมีชาวบ้านตั้งข้อสังเกตว่าการก่อสร้างวัดเป็นต้นเหตุทำให้ดินสไลด์ลงไปทับบ้านเรือนประชาชน จนทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 13 ราย ระบุพร้อมจะแก้ไขไปกับหน่วยงานรัฐ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุในลักษณะนี้ขึ้นอีก
ส่วนภาพถ่ายที่มีการบันทึกกันได้ว่าจุดที่มีการสไลด์นั้นเกิดจากบนวัดพระใหญ่ เบื้องต้นคาดว่าเป็นบริเวณอาคารปฏิบัติธรรม อย่างไรก็ตาม ประธานมูลนิธิวัดพระใหญ่ ยืนยันว่าการก่อสร้างพระพุทธรูป และอาคารต่างๆ บนเทือกเขานาคเกิด ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมาย โดยพื้นที่บริเวณดังกล่าวอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เทือกเขานาคเกิด จริง แต่ได้รับอนุญาตจากทางกรมป่าไม้ให้เข้าไปดำเนินการก่อสร้างเมื่อปี 2545 เนื้อที่รวม 42 ไร่ พร้อมทั้งยืนยันว่าการก่อสร้างในตอนนี้ไม่ได้มีการรุกล้ำเกินจากที่ขอไว้แต่อย่างใดด้วย
ทั้งนี้ เหตุการณ์ดินโคลนถล่มในครั้งนี้ส่งผลให้มีประชาชนในพื้นที่ได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง ล่าสุดป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยสรุปตัวเลขมีชาวบ้านได้รับผลกระทบรวม 209 ครัวเรือน 3 ตำบล 9 หมู่บ้าน หนักสุดในพื้นที่หมู่ 2 ต.กะรน มีผู้ได้รับบาดเจ็บรวมท 19 คน เสียชีวิตทั้งหมด 13 คน.-สำนักข่าวไทย