29 ก.ค. – รมว.เกษตรฯ ลงพื้นที่จันทบุรี-ตราด ติดตามสถานการณ์น้ำท่วม เน้นย้ำทุกหน่วยงานต้องเฝ้าติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด ด้าน จ.จันทบุรี เฝ้าระวังพิเศษ หลัง ปภ.เปลี่ยนขึ้นธงแดง
ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ จ.จันทบุรี และ จ.ตราด หลังเกิดภาวะฝนที่ตกอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ ต.ปีถวี ตลอดจน 2 วันที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดน้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมบ้านเรือนประชาชน พื้นที่ทางการเกษตรได้รับผลกระทบทั้งหมด 12 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับความเดือดร้อนประมาณ 1,500 คน 600 ครัวเรือน และมีผู้เสียชีวิต 1 ราย ความเสียหายที่เกิดจากน้ำป่าไหลหลาก ประกอบด้วย สะพานจำนวน 4 แห่ง และท่อลอดเหลี่ยม จำนวน 3 แห่ง
ส่วนราชการ เหล่ากาชาดจันทบุรี รวมกัน มอบถุงยังชีพ จำนวน 50 ชุด น้ำดื่ม 1,000 แพ็ก ให้กับผู้ประสบภัย ตลอดจนมอบเงินช่วยเหลือช่วยงานบำเพ็ญกุศลศพให้กับ นายกิตติศักดิ์ และ นส.วารุณี ที่ต้องสูญเสียบุตรสาววัย 11 ปี จากเหตุอุทกภัยครั้งนี้
ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า ได้เน้นย้ำสั่งการให้รองอธิบดีกรมชลประทาน กำกับดูแลการบริหารจัดการน้ำของ 2 จังหวัด โดยให้ถอดบทเรียนจาก จ.ตราด ที่มีปัญหาในระบบการแก้ไขป้องกันสถานการณ์น้ำ ที่ผ่านมาได้กำชับให้รองอธิบดีกำกับดูแลพื้นที่อย่างเอาจริงเอาจัง และติดตามสถานการณ์เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำในช่วงนี้อย่างใกล้ชิด พร้อมได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เกษตรอำเภอ, เกษตรจังหวัด ออกสำรวจความเสียหายของพี่น้องประชาชน ไม่ว่าจะเป็นพืชไร่พืชสวน ประมง ปศุสัตว์ โดยภาครัฐจะได้เข้าเยียวยาดูแล
สถานการณ์น้ำจันทบุรี เฝ้าระวังพิเศษหลัง ปภ.เปลี่ยนขึ้นธงแดง
สถานการณ์น้ำท่วม น้ำเอ่อล้นตลิ่ง จากฝนที่ตกลงมาอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ จ.จันทบุรี ยังไม่คลี่คลาย ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ จ.จันทบุรี ได้ดำเนินการเปลี่ยนจากธงสีเหลือง ติดธงแดง ที่บริเวณสะพานแม่น้ำจันทบุรี เพื่อแจ้งเตือนประชาชนริมฝั่งแม่น้ำเฝ้าระวังพิเศษ และเตรียมยกของขึ้นที่สูง
ขณะที่มวลน้ำเริ่มส่งผลกระทบต่อชุมชนที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำบางส่วนแล้ว อาทิ บ้านลุ่ม, หัวแหลม พื้นที่ลุ่มต่ำริมคลองฝั่งจันทนิมิตร คลองขี้หนอน ส่วนด้านนอกอำเภอขลุง, อำเภอมะขาม , อำเภอเขาคิชฌกูฏ, อำเภอนายายอาม, อำเภอท่าใหม่ ตำบลแสลง อำเภอเมือง มีน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำ และสวนผลไม้ได้รับความเสียหาย
หลังวันที่ 27-28 กรกฎาคม ได้เกิดฝนตกหนักต่อเนื่องในพื้นที่ปริมาณน้ำฝนสะสมในรอบ 24 ชั่วโมง มากกว่า 340 มิลลิเมตร ในพื้นที่อำเภอมะขาม, อำเภอเมืองจันทบุรี, อำเภอขลุง และอำเภอโป้งน้ำร้อน ทำให้มวลน้ำจำนวนมากหลากเข้าท่วมฉับพลันในพื้นที่ทั้ง 4 อำเภอ ส่งผลกระทบต่อประชาชนรวม 16 ตำบล 74 หมู่บ้าน 7 ชุมชน 33,397 ครัวเรือน 9,130 ราย พื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบกว่า 41,222 ไร่
ปัจจุบันสถานการณ์รอบนอกได้เริ่มเข้าสู่สภาวะปกติในหลายพื้นที่ แต่ยังคงต้องเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในเขตเศรษฐกิจเมืองจันทบุรี ริมแม่น้ำจันทบุรี ที่ต้องเปลี่ยนธงสัญลักษณ์ เป็นสีแดง เพื่อการเฝ้าระวังและแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ลุ่มริมแม่น้ำจันทบุรี ลดความสูญเสียสามารถให้ความช่วยเหลือ เยียวยา และฟื้นฟูให้กลับคืนสู่สภาพเดิมได้อย่างรวดเร็ว .-สำนักข่าวไทย