กทม. 2 ก.ค. – ตำรวจรอผลตรวจสอบจากสภาวิศวกรรม ก่อนดำเนินคดีผู้เกี่ยวข้องเหตุเครนถล่ม ซอยอ่อนนุช 86 ด้าน ผอ.เขตประเวศ สั่งระงับการก่อสร้าง จนกว่าจะปลอดภัย สาเหตุเบื้องต้นเกิดจากเสาเข็มฐานเครนหลุด
จากอุบัติเหตุเครนก่อสร้างขนาดใหญ่ ในซอยอ่อนนุช 86 พังถล่มทับคนงาน ทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 คน บาดเจ็บ 3 คน ช่วงบ่ายวันนี้ พันตำรวจเอก สิทธิชัย ศรีโสภาเจริญรัตน์ รักษาราชการแทนผู้บังคับการตำรวจนครบาล 4 เปิดเผยว่า ได้สอบปากคำผู้ดูแลงานก่อสร้างดังกล่าวแล้ว ขณะที่เจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐานได้เข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุ ทั้งในส่วนโครงสร้าง พื้นที่รับน้ำหนัก และโดยรอบจุดเกิดเหตุ ขณะนี้ยังไม่ตัดประเด็นใดทิ้ง ทั้งเรื่องการรับน้ำหนักไม่ไหวของตัวเครน หรือการทรุดตัวของพื้นบริเวณฐาน ต้องรอผลการตรวจสอบจากสภาวิศวกรรม คาดว่าจะเข้ามาตรวจสอบในวันพรุ่งนี้ (3 ก.ค.)
สำหรับผู้เสียชีวิตในจุดเกิดเหตุทั้ง 2 คน ทราบว่าเป็นคนไทยแต่ไม่สามารถเปิดเผยถึงรายละเอียดได้ โดยหลังจากตรวจสอบจุดเกิดเหตุเสร็จเรียบร้อยแล้วจะให้ผู้เกี่ยวข้องและพยานในที่เกิดเหตุทั้งหมดไปสอบปากคำอย่างละเอียดที่ สน.ประเวศ และจะพิจารณาเรื่องการแจ้งข้อกล่าวหาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องซึ่งอาจมีข้อหากระทำการโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต แต่ต้องรอความชัดเจนก่อนว่าเป็นความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากอะไร
ขณะที่ นายดิชา คงศรี ผอ.เขตประเวศ เปิดเผยว่า ขณะนี้มีการออกคำสั่งระงับโครงการจำกัดขยะมูลฝอยด้วยวิธีการเผาไหม้เพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าไปก่อนจนกว่าจะมีความปลอดภัย ส่วนสาเหตุจากที่สอบถามว่า เสาเข็มฐานเครนหลุด ออก 4 ต้น จาก 5 ต้น ทำให้เครนรับน้ำหนักไม่ไหวเครนจึงหงายหลังและพังลงมานั้น รายละเอียดส่วนนี้ต้องรอให้ทางตำรวจตรวจสอบหาสาหตุอย่างละเอียดอีกครั้ง ส่วนการสำรวจความเสียหาย ทางสำนักงานสิ่งแวดล้อม กทม. จะต้องมาตรวจความเสียหายที่เกิดขึ้นโดยละเอียดอีกครั้ง
สำหรับรายชื่อ ผู้ได้รับบาดเจ็บ ประกอบด้วย นายภีรวิช อายุ 28 ปี และนายอิทธิพล อายุ 42 ปี และ 3. นายรุ่ง อายุ 54 ปี ส่วนผู้เสียชีวิต ทั้ง 2 คน ยังไม่มีการเปิดเผยรายชื่อ
ด้าน ศ.ดร.อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย เผยว่า การล้มของเครนก่อสร้างดังกล่าว น่าจะเป็นการวิบัติแบบพลิกคว่ำ (overturning) ซึ่งสังเกตได้จากโครงเหล็กพร้อมฐานราก หลุดออกจากเสาเข็มแล้วล้มมาทับสำนักงานชั่วคราว สำหรับข้อสันนิษฐานสาเหตุที่เกิดการวิบัติดังกล่าว อาจเกิดขึ้นได้จาก 1. เหล็กที่ยึดระหว่างเสาเข็มและฐานรากมีจำนวนไม่เพียงพอ รวมทั้งระยะฝังยึดเหล็กในฐานรากน้อยเกินไป 2. น้ำหนักที่ยก ทำให้เกิดโมเมนต์พลิกคว่ำ เกินกำลังต้านแรงดึงของเหล็กเดือยในเสาเข็ม ซึ่งยังเป็นเพียงข้อสันนิษฐานเบื้องต้น จะต้องเข้าไปรวบรวมข้อมูลรายละเอียดทั้งหมด จึงจะระบุสาเหตุที่แท้จริงได้
สำหรับเครนดังกล่าว จัดว่าเป็นปั้นจั่นหอสูง (Tower crane) ซึ่งเป็นเครื่องจักรที่ใช้ยกสิ่งของในการก่อสร้าง การออกแบบฐานรากและการเชื่อมต่อระหว่างฐานรากและเสาเข็มจึงเป็นส่วนสำคัญในการต้านทานการล้มคว่ำของเครน ดังนั้นกฎหมายจึงกำหนดให้ต้องมีทั้งวิศวกรเครื่องกล และวิศวกรโยธา เข้ามาดูแลและกำกับการใช้งานเครน นับตั้งแต่การออกแบบ จนถึงการควบคุมการใช้งาน เพื่อให้เกิดความปลอดภัย แต่ก็ยังเกิดอุบัติเหตุซ้ำซาก ซึ่งในวันพรุ่งนี้ สมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย จะเข้าไปตรวจสอบพื้นที่ในช่วงสาย เพื่อให้ทราบสาเหตุที่แน่ชัดต่อไป.-สำนักข่าวไทย