กทม. 3 ก.ค. – เหตุเครนก่อสร้างล้ม ซอยอ่อนนุช 86 สมาคมวิศวกรฯ ลงพื้นที่ตรวจสอบเบื้องต้น พบสลักเกลียวที่ยึดติดไว้ปลายเครนหลุด ทำให้เสียหลัก ล้มทับคนงาน เตรียมส่งข้อมูลให้ วสท. ยันต้องมีคนรับผิดชอบ
ศ.ดร.อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย พร้อมคณะ และเจ้าหน้าที่จาก กทม. ลงพื้นที่ร่วมตรวจสอบภายในไซต์งานก่อสร้างที่เกิดเหตุเครนล้มทับคนงาน ในซอยอ่อนนุช 86 หลังใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้น พบว่าสลักเกลียวหรือน็อตที่อยู่ในชิ้นส่วนปลายของทาวเวอร์เครน หลุดออกจากส่วนประกอบ ทำให้เครนเกิดเสียหลัก ส่วนชิ้นส่วนอื่นๆ จากการตรวจสอบ ยังไม่พบสิ่งผิดปกติ แต่จะต้องให้ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้ง คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน ในการสรุปหาสาเหตุที่แท้จริงได้ และจะนำข้อมูลรายงานให้สภาวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อพิจารณา เชิญวิศวกรที่ออกแบบทาวเวอร์เครนและผู้ประกอบติดตั้งเครนมาให้ข้อมูลว่ามีความผิดพลาดในการออกแบบหรือผิดพลาดในการประกอบตรงส่วนไหน โดยยืนยันว่าเรื่องนี้จะต้องมีคนรับผิดชอบ
ด้านคดีความ ผู้กำกับการ สน.ประเวศ ระบุว่าได้เชิญผู้เกี่ยวข้องทุกคน ทั้งคนงาน เจ้าของโครงการ และผู้รับเหมา ไปสอบปากคำแล้ว แต่ยังไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหากับใคร เนื่องจากยังต้องรอผลตรวจสอบโครงสร้างจากสมาคมวิศวกรแห่งประเทศไทยก่อน จากนั้นพนักงานสอบสวนจะพิจารณาแจ้งข้อกล่าวหาในภายหลัง
จากเหตุการณ์เครนก่อสร้างล้มที่ซอยอ่อนนุช 86 มีผู้เสียชีวิต 2 คนและบาดเจ็บ 5 คน ทางสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย ได้สรุปข้อสันนิษฐาน เบื้องต้นไว้ 4 ข้อ
- การถล่มของปั้นจั่นดังกล่าว จัดได้ว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของการวิบัติต่อเนื่อง หมายถึง การวับัติที่เริ่มจากจุดใดจุดหนึ่งและลุกลามให้โครงสร้างทั้งหมดพังถล่มตามลงมา
- จุดตั้งต้นของการวิบัติเกิดขึ้น ขณะที่ปั้นจั่นกำลังยกเหล็กเส้น โดยในขณะที่ยกพบว่าแขนบูมราบที่บริเวณปลายยื่นเกิดหักสองท่อน ซึ่งน่าจะเกิดจากสลักยึดที่ใช้ยึดระหว่างชิ้นส่วนเกิดการหลุด เคลื่อน หรือขาด โดยตรวจพบเศษสลักยึดชิ้นส่วนหลุดลงมาด้วย
- เมื่อแขนปลายบูมด้านที่ยกของหัก ทำให้เกิดสภาวะไม่สมดุลของน้ำหนักถ่วงระหว่างสองด้านของโครงปั้นจั่น เลยทำให้แขนยื่นฝั่งที่มีก้อนคอนกรีตถ่วงน้ำหนัก ดึงรั้งโครงปั้นจั่นให้ล้มคว่ำลงมาในทิศตรงข้าม พร้อมๆ กับดึงแขนปลายบูมจนพลิกกลับด้านมาฟาดที่อาคารสำนักงานชั่วคราว จนทำให้มีผู้เสียชีวิต
- เมื่อโครงปั้นจั่นเสียสมดุล จึงล้มคว่ำพร้อมกับดึงรั้งฐานรากคอนกรีตทั้งฐานจนหลุดออกจากเสาเข็ม พบเหล็กเดือยที่ยึดระหว่างเสาเข็มฐานรากขาด เป็นการวิบัติในลักษณะที่สูญเสียเสถียรต่อการพลิกคว่ำ .-สำนักข่าวไทย