กรุงเทพฯ 21 พ.ค.- กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเริ่มฤดูฝนอย่างเป็นทางการแล้วตัั้งแต่ 20 พ.ค. โดยพบว่า ปัจจัยทางอุตุนิยมวิทยาครบทุกปัจจัย ฤดูฝนปีนี้อาจมีพายุหมุนเขตร้อน 1 – 2 ลูกเท่าค่าเฉลี่ยปกติ สภาวะเอลนีโญจะสิ้นสุด แล้วพลิกกลับเป็นลานีญา ทำให้ฝนตกชุก ดังนั้นช่วงปลายฤดูฝนจะตกชุกหนาแน่นทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้ในบางพื้นที่
นางสาวกรรวี สิทธิชีวภาค อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยากล่าวว่า ได้ออกประกาศรื่อง การเริ่มต้นฤดูฝนของประเทศไทย พ.ศ. 2567 โดยประเทศไทยได้สิ้นสุดฤดูร้อนและเริ่มต้นเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว ตั้งแต่เมื่อวานนี้ (วันที่ 20 พฤษภาคม) เนื่องจากบริเวณประเทศไทยตอนบน สภาพอากาศมีฝนตกชุกหนาแน่นครอบคลุมพื้นที่มากกว่าร้อยละ 60 และต่อเนื่อง 3 วันขึ้นไป ประกอบกับลมชั้นบนที่พัดปกคลุมประเทศไทยที่ระดับความสูงประมาณ 1.5 กิโลเมตรได้เปลี่ยนทิศเป็นลมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งจะพัดนำความชื่นจากะเลอันดามันเข้ามาปกคลุมบริเวณประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ส่วนลมชั้นบนที่ระดับความสูงประมาณ 10 กิโลเมตรได้เปลี่ยนทิศเป็นลมฝ่ายตะวันออก เมื่อปัจจัยทางอุตุนิยมวิทยาครบทั้ง 3 ปัจจัยจึงถือว่า เป็นการเข้าสู่ฤดูฝนของประเทศไทยในปีนี้
ทั้งนี้ฤดูฝนของประเทศไทยตอนบนจะสิ้นสุดประมาณกลางเดือนตุลาคม ส่วนภาคใต้โดยเฉพาะฝั่งตะวันออกจะมีผนตกชุกหนาแน่นต่อไปอีกจนถึงกลางเดือนมกราคม
สำหรับปรากฏการณ์เอนโซ (ENSO) ขณะนี้อยู่ในสภาวะเอลนีโญกำลังอ่อน โดยเป็นช่วงท้ายของสภาวะเอลนีโญ คาดการณ์ว่า จะเข้าสู่สภาวะเป็นกลางหรือ Neutral ในเดือนมิถุนายน แล้วกลายเป็นลานีญากำลังอ่อนในเดือนกรกฎาคมจึงทำให้ฤดูฝนปีนี้ ปริมาณฝนและการกระจายของฝนดีขึ้น
กรมอุตุนิยมวิทยาคาดหมายว่า ฤดูฝนปี 2567 อาจมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย 1 – 2 ลูกตามค่าเฉลี่ยปกติ ต่างจากปี 2566 ซึ่งไม่มีพายุหมุนเขตร้อนเข้าสู่ประเทศไทยเลย โดยมีโอกาสสูงที่จะเคลื่อนผ่านภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือในเดือนสิงหาคมและกันยายนซึ่งจะส่งผลให้สถานการณ์น้ำต้นทุนปีนี้ ดีกว่าปีที่แล้ว
ส่วนปริมาณฝนรวมในฤดูฝนคาดว่า จะใกล้เคียงกับปี 2566 ซึ่งปี 2566 ปริมาณฝนรวมในฤดูฝนมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติ 1% ระหว่างกลางเดือนมิถุนายนถึงกลางเดือนกรกฎาคม อาจเกิดภาวะฝนทิ้งช่วง พื้นที่นอกเขตชลประทานต้องระวังภาวะขาดแคลนน้ำ แต่ในเดือนสิงหาคมและกันยายนจะมีฝนตกชุกหนาแน่น ประกอบกับเป็นห้วงที่คาดการณ์ว่า จะมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนผ่านประเทศไทยจึงต้องเฝ้าระวังปริมาณฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้
นายสมควร ต้นจาน ผู้อำนวยการกองตรวจและเฝ้าระวังสภาวะอากาศกล่าวว่า ระยะนี้ลมตะวันตกเฉียงใต้เริ่มพัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทยทำให้ทั่วทุกภาคของไทยมีฝนและฝนฟ้าคะนองกระจายเพิ่มขึ้น ส่วนมากฝนเกิดขึ้นในช่วงบ่ายถึงค่ำ ประกอบกับมีแนวลมพัดสอบของลม 2 กระแสคือ ลมตะวันออกเฉียงใต้และลมตะวันตกเฉียงใต้ ระยะนี้จึงต้องระวังพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และอาจเกิดฟ้าผ่าได้ ภาคใต้มีฝนต่อเนื่องทั้ง 2 ฝั่ง โดยเฉพาะภาคใต้ฝั่งอันดามันต้องระวังฝนตกหนักถึงหนักมากและคลื่นลมแรง จากอิทธิพลของลมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุม
นอกจากนี้ระหว่างวันที่ 22 – 26 พฤษภาคม หย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมบริเวณอ่าวเบงกอลตอนล่างจะทวีกำลังแรงขึ้นและมีแนวโน้มจะเคลื่อนเข้าสู่อ่าวเบงกอลตอนบน ส่งผลให้มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันมีกำลังแรงขึ้น ลักษณะเช่นนี้จะทำให้ฝนตกเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง อาจเกิดน้ำท่วมฉับพลันน้ำป่าไหลหลากได้
จังหวัดที่คาดว่า จะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง มีดังนี้
วันที่ 21 พฤษภาคม 2567
- ภาคเหนือได้แก่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ ตาก กำแพงเพชร สุโขทัย พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้แก่ จังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ อุดรธานี สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด มุกดาหาร ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
- ภาคกลางได้แก่ นครสวรรค์ อุทัยธานี ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา กาญจนบุรี ราชบุรี นครปฐม สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม
- ภาคตะวันออกได้แก่ จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
- ภาคใต้ได้แก่ จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล
วันที่ 22 พฤษภาคม 2567
- ภาคเหนือได้แก่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ ตาก กำแพงเพชร สุโขทัย พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้แก่ จังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ อำนาจเจริญ อุดรธานี สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด มุกดาหาร และนครราชสีมา
- ภาคกลางได้แก่ จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร นครปฐม รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
- ภาคตะวันออกได้แก่ จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
- ภาคใต้ได้แก่ จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล
วันที่ 23-24 พฤษภาคม 2567
- ภาคเหนือได้แก่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำปาง ตาก กำแพงเพชร และพิจิตร
- ภาคกลางได้แก่ จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท กาญจนบุรี ราชบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร นครปฐม รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
- ภาคตะวันออกได้แก่ จังหวัดระยอง จันทบุรี และตราด
- ภาคใต้ได้แก่ จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล
สำหรับภาคใต้ต้องระวังคลื่นลมในบริเวณทะเลอันดามันมีกำลังค่อนข้างแรง โดยทะเลอันดามัน ตอนบนมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร สำหรับอ่าวไทยทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1–2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง สำหรับชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันตอนบนควรงดการเดินเรือช่วง 22 – 26 พฤษภาคมด้วย
ขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา และสามารถติดตามข้อมูลที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา http://www.tmd.go.th หรือสายด่วนพยากรณ์อากาศ 1182 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง. 512 – สำนักข่าวไทย